วัดหัวขัว เวียงยองลำพูน

ประมาณปี พ.ศ.2348 ในรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ได้โปรดเกล้าฯให้พระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครอนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 นำชนเผ่าไทยซึ่งประกอบด้วย ลัวะ ลื้อ ยาง ยอง เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในเมืองเชียงใหม่และลำพูนหลังจากที่ชาวยองส่วนหนึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้เมืองลำพูน โดยเฉพาะที่บ้านเวียงยองนั้น เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มาจากอำเภอเมืองยอง จังหวัดเชียงตุง ประเทศพม่า ประกอบด้วย เจ้าเมืองยอง ญาติพี่น้องและชนชั้นปกครอง ซึ่งแต่เดิมเป็นศรัทธาของวัดหัวข่วงราชฐานในเมืองยอง แต่เมื่ออพยพมาตั้งถิ่นฐานในลำพูนจึงได้พร้อมใจกันสร้างวัดขึ้น ใช้ชื่อว่า “วัดหัวข่วงนางเหลียว” ปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่เหนือวัดหัวขัวขึ้นไปทางเหนือประมาณ 200 เมตร ต่อมาวัดหัวข่วงนางเหลียวถูกแม่น้ำกวงเซาะตลิ่งพัง ชาวยองสมัยนั้นจึงได้ย้ายวัดมาตั้งในปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ. 2357 ใช้ชื่อว่า “วัดหัวขัว” ผู้ที่มีส่วนอย่างมากในการก่อสร้างวัดก็คือ แม่เจ้ายิ้ม แม่เจ้าฟองคำ ซึ่งเป็นมารดาของเจ้าหนานประพันธ์ กาญจนกามล
วัดหัวข่วงเป็นวัดของเจ้านายเมืองยองครั้งหนึ่งเจ้าหนานหมื่นวงศ์สาม สกุลเจ้าเมืองยองทางมารดา เกิดที่บ้านเวียงยองได้บวชเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดหัวข่วง หลังจากนั้นปรากฏว่าในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา เจ้าเชื้อสายเมืองยองฝ่ายชายเกือบทั้งหมดต้องบวชเรียนที่วัดหัวข่วงทุกคน เพราะในบริเวณวัดหัวข่วงยังมีกู่อัฐิของเจ้าเชื้อสายเมืองยองอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มเจ้าเมืองยองเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณบ้านเวียงยอง แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันวัดหัวข่วงกลายเป็นวัดร้างอยู่ในที่เอกชน ซึ่งเมื่อลองเข้าไปสำรวจจะพบเศษอิฐและซากเจดีย์ปรากฏให้เห็นอยู่ ส่วนเศียรพระพุทธรูปและโบราณวัตถุที่ค้นพบถูกนำไปเก็บไว้ที่ “หอสิบสอง” ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่ประจำหมู่บ้านเวียงยอง

ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาวัดหัวขัวมีพระภิกษุที่ถือว่ามีความสำคัญต่อวัดหัวขัวมากที่สุดองค์หนึ่งคือ ครูบามโน ครูบาเจ้าคันธวงศ์ และครูบาสังข์ ซึ่งท่านเป็นผู้บุกเบิกสร้างวัดหัวขัวและบูรณะโบราณสถานต่าง ๆ ภายในวัดเป็นจำนวนมาก ปี พ.ศ.2452 ครูบาเจ้าคันธวงศ์ร่วมกับแม่เจ้ายิ้ม แม่เจ้าฟองคำ ได้บูรณะพระวิหารวัดหัวขัว จนกระทั่งถึงครูบาบุญจู เป็นเจ้าอาวาส ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการเทศน์ธรรมมหาชาติ โดยเฉพาะกัณฑ์กุมาร นอกจากนั้นท่านยังมีความชำนาญในการทำกลองแอว (กลองตึ่งโมง) ที่ใช้ในการฟ้อนเล็บ

วัดหัวขัว เวียงยองนอกจากจะเป็นวัดเก่าแก่ของชาวยองในลำพูนแล้ว วัดนี้ยังมีการยึดถือปฏิบัติประเพณีความเชื่อของชาวยองที่ดูเหมือนว่าจะแตกต่างจากความเชื่อของคนเมืองลำพูนก็คือ การตั้งศาลเทวบุตรหลวง ความเชื่อในการนับถือผีของชาวยองที่มีแต่ดั้งเดิมนั้น มี 2 ชนิดคือ “ผีดี” และ “ผีร้าย” ผีร้ายหมายถึง ผีกะ ผีปอบ ซึ่งปัจจุบันหมดไปจากความเชื่อในสังคมคนยอง ส่วนผีดีนั้นได้แก่ เทวบุตรหลวง ซึ่งจะคอยปกป้องคุ้มคอยให้อยู่เย็นเป็นสุข

การบูชาเทวบุตรหลวงของคนยองมีความเชื่อว่า หากจะออกรบชายแดนให้บูชาเทวบุตรองค์ สุรณะ หากเป็นความขึ้นโรงขึ้นศาล คัดเลือกทหารเกณฑ์ ให้บูชาเทวบุตรองค์ ปิทธิยะ หากต้องการโชคลาภ ให้บูชาเทวบุตรองค์ ลักขณา และหากเจ็บไข้ได้ป่วย ให้บูชาเทวบุตรองค์ เทวตา ส่วนการบูชาเทวบุตรหลวงโดยทั่วไปจะกระทำในวันที่ 16 เมษายนของทุกปี

ร่วมแสดงความคิดเห็น