ตามรอยพุทธทาส ไปชมสวนพุทธธรรม ที่วัดอุโมงค์เชียงใหม่

สวนพุทธธรรม เป็นชื่อที่ท่าน “ภิกขุ ปัญญานันทะ” ตั้งขึ้นเพื่อเรียกสถานที่ป่าผืนใหญ่ที่ปกคลุมวัดร้างโบราณ ส่วนวัดอุโมงค์ (เถรจันทน์) นั้นเป็นชื่อที่เรียกวัดเก่าแก่ที่พระเจ้ากือนาธรรมิกราช ทรงสร้างอุโมงค์ขึ้นเพื่อถวายให้พระมหาเถรจันทน์ ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฏกไว้อาศัย
ประวัติของวัดอุโมงค์ มีหลักฐานทางตำนานที่ไม่ค่อยละเอียดนัก ก่อนที่เราจะศึกษาประวัติวัดอุโมงค์ จะต้องทราบธรรมเนียมในการสร้างเมืองของพระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณไว้ด้วยว่า เมื่อทรงสร้างพระราชวังและเมืองหลวงเสร็จแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับสองคือ การสร้างวัดประจำเมืองทั้งสี่ทิศ หรือสองทิศ (เหนือ,ใต้) และวัดพิเศษภายในพระราชวังขึ้น สำหรับเป็นที่สักการะบูชาของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์อีก 1 วัดเสมอ
จากประวัติศาสตร์บอกไว้ว่า เมื่อพญามังรายมหาราชปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายตกลงพระทัยที่จะสร้างเมืองใหม่ที่ป่าเลาคา ระหว่างแม่น้ำปิงกับดอยสุเทพ ให้ชื่อเมืองนี้ว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” หลังจากสร้างราชธานีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พญามังรายจึงได้ทรงสร้างวัดสำคัญฝ่ายคามวาสี (วัดสำหรับพระภิกษุที่ชอบอยู่ในเมือง เพื่อเรียนพุทธวจนะ) ประจำเมืองทั้งสี่ทิศพร้อมทั้งวัดภายในพระราชวัง และทรงสร้างวัดฝ่ายอรัญญวาสี (วัดสำหรับพระภิกษุที่เรียนพุทธวจนะแล้วออกไปหาความสงบในป่าเพื่อบำเพ็ญวิปัสสนากัมมาฐาน) บริเวณชานพระนครขึ้นหลายวัด เช่น วัดเก้าถ้าน เป็นต้น
พญามังรายมหาราช ได้ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนาพระภิกษุสามเณร ทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญญาวาสีด้วยปัจจัยสี่ให้มีกำลังใจศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยตามความสามารถแห่งตนอย่างดียิ่งทั้งสองฝ่าย ต่อมาพระองค์ทราบว่าพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ได้ส่งคนไปนิมนต์พระสงฆ์จากเมืองลังกาที่มาอยู่เมืองนครศรีธรรมราชให้มาสั่งสอนพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติแก่ชาวเมืองสุโขทัยปรากฏเกียรติคุณว่า พระสงฆ์ลังกาแตกฉานพระไตรปิฏกเคร่งครัดในพระธรรมวินัยยิ่งกว่าพระไทยที่มีอยู่ เกิดความเลื่อมใสจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปขอพระสงฆ์ลังกาจากพระเจ้ารามคำแหงมหาราชมา 5 รูป อันมีพระมหากัสสปะเถระเป็นหัวหน้า เมื่อนิมนต์พระลังกามาได้แล้วเกิดลังเลพระทัยไม่ทราบว่าจะนำพระลังกา 5 รูปนี้ไปอยู่วัดไหนดี จะนำไปอยู่กับพระไทยทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญญวาสีก็เกรงว่าพระลังกาจะไม่สบายใจ เพราะระเบียบประเพณีในการปฏิบัติอาจไม่เหมือนกัน
ในที่สุดก็ได้ตกลงพระทัยสร้างวัดฝ่ายอรัญญวาสี เฉพาะพระลังกาขึ้นวัดหนึ่งที่บริเวณป่าไผ่ 11 กอ เมื่อสร้างวัดเสร็จเรียบร้อยและทำการฉลอง ทรงขนานนามว่า “วัดเวฬุกัฏฐาราม” จากนั้นจึงได้นิมนต์คณะสงฆ์ลังกาเข้าจำพรรษาเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
ในรัชสมัยของพระเจ้ากือนา มีพระเถระรูปหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฏก พระเถระรูปนั้นมีนามว่า พระมหาเถระจันทน์ ในสมัยนั้นมีพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิและรอบรู้ในพระไตรปิฏกอยู่ 6 องค์ด้วยกัน พระเถระทั้ง 6 รูปนี้แม้จะรอบรู้ในพระไตรปิฏกก็จริง แต่ก็สู้ท่านมหาเถระจันทร์ไม่ได้ ในครั้งนั้นมักจะมีพระเถระจากต่างเมืองมาถามปัญหาธรรมอยู่เสมอ และทุกครั้งที่มีการถกเถียงปัญหาธรรมที่ลึกซึ้งก็ต้องอาศัยพระมหาเถระจันทน์เป็นผู้เฉลยปัญหานั้นให้ ด้วยความเชี่ยวชาญและความรอบรู้ของท่านนี้เองทำให้พระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงโปรดปรานเป็นอันมาก แต่พระมหาเถระจันทน์ชอบจาริกไปอยู่ตามป่าดงเพื่อหาที่สงบบำเพ็ญภาวนาอยู่เป็นนิจ ไม่มีที่อยู่แน่นอน เวลาต้องการตัวโต้ตอบปัญหาหรือศึกษาข้อธรรม มักจะตามไม่ค่อยพบ พระเจ้ากือนาธรรมิกราชประสงค์จะให้พระมหาเถระจันทน์อยู่เป็นที่ สะดวกในการติดต่อและพบปะง่าย จึงได้โปรดให้สร้างอุโมงค์ใหญ่ขึ้นที่ด้านเหนือฐานพระเจดีย์ในวัดเวฬุกัฏฐาราม เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้มอบให้เป็นที่อยู่ของพระมหาเถระจันทน์ ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “วัดอุโมงค์เถรจันทน์”
ปัจจุบันนี้ วัดอุโมงค์เถรจันทน์เป็นส่วนหนึ่งของ “สวนพุทธธรรม” มีพระภิกษุ แม่ชี อุบาสก อุบาสิกาจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ ทำการศึกษาและปฏิบัติธรรม วัดอุโมงค์แห่งนี้มีความใกล้ชิดกับสำนักสวนโมกขพลาราม ของท่านอาจารย์พุทธทาส ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี
ในปี พ.ศ.2491 ท่านพุทธทาส ภิกขุ ได้เดินทางขึ้นมาแสดงธรรมและขอให้ท่านอยู่ประจำที่เชียงใหม่ ท่านพุทธทาสได้ขึ้นมาแสดงธรรมให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ฟังเป็นเวลา 15 วัน จากการประกาศพุทธศาสนาในครั้งนั้นทำให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ตื่นตัวในการประกาศพุทธศาสนาที่แท้จริงมากยิ่งขึ้น แต่ท่านไม่อาจจำพรรษาอยู่ที่เชียงใหม่ได้ ปีต่อมาท่านจึงได้ให้ ภิกขุ ปัญญานันทะ มาประจำที่เชียงใหม่ เมื่อท่านเดินทางมาถึงก็ได้เริ่มประกาศธรรมแบบใหม่ด้วยวิธีปาฐกถา มีประชาชนเป็นจำนวนมากเข้าฟัง นอกจากจะแสดงปาฐกถาประจำกลางเมืองแล้ว ภิกขุ ปัญญานันทะ ยังได้จาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ นอกเมืองและต่างจังหวัด เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปี พุทธนิคม จึงได้ขยายวงออกไป
ปัจจุบันวัดอุโมงค์เถรจันทน์ มีผู้คนให้ความสนใจมาฝึกปฏิบัติสมาธิ บางคนก็เข้ามาพักผ่อนในบริเวณที่ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ที่เขียวขจี วัดอุโมงค์จึงเป็นวัดป่ากลางเมืองเชียงใหม่ที่ผู้คนมักจะหนีความสบสันวุ่นวายในเมืองมาหลบร้อนนั่งสมาธิปฏิบัติกัมมาฐาน สร้างจิตใจให้เข็มแข็งและสงบสุขอย่างไม่ขาดสาย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น