จิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำวัดพระสิงห์

DSC_0687 DSC_0694 DSC_0712วัดพระสิงห์วรมหาวิหารเป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญคู่เมืองเชียงใหม่ ภายในวัดมีศิลปกรรมที่สร้างด้วยช่างฝีมือชาวล้านนาที่สวยงาม เช่นวิหารหลวงที่สร้างเมื่อครั้งครูบาศรีวิชัย ,หอไตรศิลปะแบบล้านนา ,เจดีย์ทรงระฆังคว่ำศิลปกรรมล้านนาและวิหารลายคำที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์พระพุทธรูปเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่อีกองค์หนึ่ง

ความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมล้านนาในวัดพระสิงห์นั้น ได้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติพากันมาเยี่ยมชมความสวยงามของวัดนี้เป็นจำนวนมาก จนชื่อเสียงของวัดพระสิงห์แผ่ขยายออกไปทั่วโลก สำหรับความเป็นมาของการสร้างวัดอันยาวนาน หลักฐานท้องถิ่น เช่น ตำนานมูลศาสนา ,ตำนาน 15 ราชวงศ์ ได้ระบุว่า พญาผายู

(พ.ศ.1879 -1898) โปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ.1887 เพื่อประดิษฐานเจดีย์บรรจุพระอัฐิธาตุของพระราชบิดาคือ พญาคำฟู (พ.ศ.1877-1879) แต่เดิมวัดนี้มีชื่อเรียกว่า วัดพระเชียง แต่เนื่องจากที่ตั้งของวัดนี้อยู่หน้าตลาดกลางเวียง (กาดลี) ชาวบ้านในสมัยนั้นจึงเรียกว่า “วัดลีเชียงพระ” ซึ่งแปลว่า “วัดตลาดเมือง”

ในสมัยพญาแสนเมืองมา พระองค์ได้ทำการสู้รบกับพญาพรหมแห่งเมืองเชียงรายจนชนะ พระองค์จึงได้นำพระพุทธสิหิงค์จากเชียงรายมาประดิษฐานที่วัดพระเชียง หรือ วัดลีเชียงพระตั้งแต่นั้นมา วัดพระสิงห์ผ่านยุคสมัยมาหลายกาลเวลา โบราณสถานต่าง ๆ ภายในวัดจึงปรากฏคล้ายเดิมของรูปแบบศิลปกรรมของช่างในสมัยก่อน

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกที่อยู่คู่เชียงใหม่มาทุกยุคสมัย ถือเป็นวัดเก่าแก่สำคัญวัดหนึ่งของเชียงใหม่มีประวัติการก่อสร้างยาวนานถึง 640 ปี วัดนี้ในอดีตเคยเป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่ ความเป็นมาที่เกี่ยวพันกับชื่อวัดพระสิงห์ที่สำคัญเห็นจะได้แก่

เมื่อครั้งที่ท้าวมหาพรหม เจ้าเมืองเชียงรายไปได้พระพุทธสิหิงค์ หรือที่ชาวเชียงใหม่เรียกว่า “พระสิงห์” มาจากเมืองกำแพงเพชรและได้นำขึ้นมาถวายให้พระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์เมืองเชียงใหม่นั้น พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงเรือขึ้นมาตามแม่น้ำปิง เมื่อขบวนเรือมาถึงเชียงใหม่ เป็นเวลาค่ำแล้วจึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นจากเรือ แล้วนำไปประดิษฐานไว้บนบกที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง

ปรากฏว่าในคืนนั้นได้เกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์ขึ้น โดยได้มีแสงสว่างลุกโชติช่วงขึ้นที่องค์พระพุทธสิหิงค์ แสงสว่างนี้เป็นลำยาวขึ้นไปบนท้องฟ้าพาดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ที่พบเห็นต่างเชื่อว่า นี่เป็นอภินิหารของพระพุทธสิหิงค์ ต่างพากันมากราบไหว้ด้วยความศรัทธา จากนั้นจึงนำขึ้นประดิษฐานบนราชรถบุษบก ตั้งขบวนแห่แหนลากจากท่าน้ำวังสิงห์คำ เพื่อจะนำไปประดิษฐานที่วัดสวนดอก แต่พอขบวนลากราชรถมาถึงวัดลีเชียงพระ ราชรถก็หยุดเสียเฉย ๆ แม้ผู้คนจะช่วยกันลากอย่างไรก็ไม่ไป

พระเจ้าแสนเมืองมา จึงได้อาราธนาอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์เข้าประดิษฐานไว้ในวิหารวัดลีเชียงพระ แล้วจัดให้มีการฉลองสมโภชขึ้น นับแต่นั้นมา พระพุทธสิหิงค์จึงได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดลีเชียงพระ ผู้คนชาวเชียงใหม่จึงเรียกวัดนี้ใหม่ว่า วัดพระสิงห์ สมัยก่อนที่วัดนี้จะถูกเรียกว่าวัดพระสิงห์นั้น เดิมมีชื่อว่า “วัดลีเชียงพระ” เพราะตั้งอยู่ใกล้ตลาด ชาวบ้านเรียกตลาดที่อยู่กลางเวียงว่า “กาดลี” คำว่า “เชียง” ก็คือ เวียง หรือ เมือง ดังนั้นวัดที่ตั้งอยู่ใกล้ตลาดเมืองจึงเรียกว่า “วัดลีเชียงพระ” ซึ่งแปลว่า “วัดตลาดเมือง” ครั้นเมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ลำดับที่ 8 แห่งราชวงศ์มังรายได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงรายมาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้ แล้วจึงเรียกชื่อว่า “วัดพระสิงห์”
วัดพระสิงห์ ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองเชียงใหม่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในบริเวณวัดมีโบราณสถานที่สำคัญและเก่า

แก่ เช่น วิหารวัดพระสิงห์ เดิมสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิโรรส ต่อมาเมื่อวิหารชำรุดทรุดโทรมลง ศรัทธาประชาชนจึงไปนิมนต์ครูบาศรีวิชัยมาบูรณะและสร้างใหม่หมดทั้งหลัง ซึ่งสร้างเป็นศิลปแบบล้านนาผสมเชียงแสน ความโดดเด่นของวิหารวัดพระสิงห์ก็คือความชันของหลังคาจะกลมกลืนกับตัวอาคารที่สร้างด้วยอิฐฉาบปูน ครึ่งอิฐครึ่งไม้มีฝากบ แผนผังของโบสถ์วิหารที่สร้างกันเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดา โดยมากเป็นโรงใหญ่ไม่มีระเบียงล้อมรอบ ดังนั้นเสาภายนอกอาคารจึงไม่แสดงความสำคัญเหมือนโบสถ์วิหารในรุ่นต่อมา ประตูทางเข้ามักจะมีรูปปั้น มีซุ้ม ส่วนมากจะทำเป็นรูปพญานาค สิงห์ หรือนกยูง อันเป็นศิลปะของพุกาม

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำวัดพระสิงห์เขียนขึ้นในราวสมัยรัชกาลที่ 5 โดยฝีมือของ เจ็กเส็ง เป็นจิตรกรรมที่มีความสวยงาม มีอิทธิพลศิลปะจากกรุงเทพฯผสมผสานกับแบบประเพณีท้องถิ่นล้านนาที่ยังปะปนกับอิทธิพลศิลปะตะวันตกด้วย ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังของวัดพระสิงห์เป็นภาพเขียนเรื่องสังข์ทองหรือสุวัณณสังขชาดก ซึ่งเป็น 1 ใน 50 เรื่องของปัญญาสชาดกหรือชาดกนอกนิบาต เป็นงานวรรณกรรมที่แต่งเลียนแบบชาดกโดยพระเถระชาวเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2000-2200 นอกจากสุวัณณสังขชาดกแล้วยังมีเรื่องสมุทรโฆษชาดก สุธนชาดก รถเสนชาดก เป็นต้น
ปัญญาสชาดกแต่ละเรื่องมีลักษณะ 4 ประการคือ กล่าวว่าเป็นพุทธวจนะมีเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงปรารภเรื่องนั้น พระ

สาวกหรือบุคคลทูลถามแล้วจึงทรงเล่าและตอนจบมีเรื่องการกลับชาติ ปัญญาสชาดกนี้เคยเผยแพร่ไปถึงเมืองพม่า เรียกกันว่า “เชียงใหม่ปัณณาส” กษัตริย์พม่าองค์หนึ่งดำรัสว่าเป็นหนังสือที่แต่งปลอมพระพุทธวจนะและสั่งให้เผาเสีย
การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำวัดพระสิงห์ช่างเขียนสามารถกำหนดจินตนาการได้ตามอย่างที่ต้องการ โดยการเขียนภาพคนในลักษณะท่าทางต่าง ๆ มีการใช้สีที่สดใส บ่งบอกถึงอารมณ์และลูกเล่นของช่างในอดีต เป็นที่น่าสังเกตุว่าภาพคนที่เขียนนั้นเป็นการจำลองวิถีชีวิตของคนล้านนาในสมัยก่อนซึ่งสังเกตุจากรอยสักบริเวณต้นขาของรูปคนในภาพ รวมทั้งการแต่งกายของผู้ชายที่นุ่งแต่ผ้าเตี่ยวมีผ้าสะพายพาดบ่าซึ่งเป็นลักษณะของคนล้านนา

ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำของวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ถือเป็นงานฝีมือของช่างชั้นครูที่ปัจจุบันยังคงได้รับการอนุรักษ์ แม้ว่าตัววิหารลายคำจะผ่านการบูรณะซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง แต่ภาพเขียนฝาผนังยังคงได้รับการรักษาไว้เป็นอย่างดี เมื่อมีโอกาสมาเที่ยววัดพระสิงห์ ลองแวะเข้าไปชมความสวยงามของภาพเขียนจิตรกรรมที่วิหารลายคำ

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น