สธ. เผย พรบ.Code milk สอดคล้องมติอนามัยโลก

4

กระทรวงสาธารณสุข เผยการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 69 ที่เจนีวา มีมติเอกฉันท์เห็นชอบแนวทางการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กขององค์การอนามัยโลก พร้อมเน้นให้คุมเข้มช่วง 3 ปีแรก
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการนำทีมประเทศไทยเข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 69 ณ อาคารองค์การสหประชาชาติ กรุงเจนีวา ประเทศสมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23 – 28 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากประเทศสมาชิกคือ โภชนาการมารดา ทารก และเด็กเล็ก ซึ่งเนื้อหาแนวทางการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กขององค์การอนามัยโลก แนะนำให้ประเทศออกกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดที่ไม่เหมาะสมในผลิตภัณฑ์นมผสม อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็กรวมถึงเครื่องดื่มจนถึง 3 ปี โดยครอบคลุมตั้งแต่การโฆษณา การลดแลกแจกแถม การประชาสัมพันธ์ การให้ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมโดยตัวแทนบริษัท และการส่งเสริมการตลาดผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญต่อการปกป้องสุขภาพของแม่และเด็กโดยการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ….ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดและได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องหลักเกณฑ์ ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.2551 พร้อมขอความร่วมมือทุกหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขให้ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว และจัดระบบการติดตาม เฝ้าระวังการละเมิดหลักเกณฑ์ฯ แต่ประกาศดังกล่าวเป็นเพียงข้อแนะนำไม่มีผลบังคับใช้และบทลงโทษให้ชัดเจน จึงไม่สามารถควบคุมการละเมิดการส่งเสริมการตลาดได้
“ทั้งนี้ จากการสำรวจการละเมิดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารก และเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ในปี 2551 พบว่า มีโรงพยาบาลของรัฐถึงร้อยละ 31 มีการละเมิดหลักเกณฑ์โดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทนมผง เช่น แจกนมผง ณ ที่ว่าการอำเภอหรือเทศบาล หรือแจกคูปองให้แม่ และครอบครัวไปรับนมผงที่ร้านขายยา จากนั้นในปี 2553 กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยจึงได้เสนอหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เข้าสู่กระบวนการของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ให้กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาและผลักดันร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ….ซึ่งกรมอนามัยและภาคีเครือข่ายได้มีการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกนี้เป็นการตอกย้ำว่าร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. …. ที่กระทรวงสาธารณสุขผลักดันอยู่ เพื่อคุ้มครองเด็กไทยให้มีโอกาสได้กินนมแม่โดยไม่ถูกแทรกแซงจากการส่งเสริมการตลาดของบริษัทนมผสมนั้น มีเนื้อหาสอดคล้องตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้คนไทยมักเข้าใจว่าควรกินนมแม่แค่ 6 เดือน แต่ความจริงแล้วองค์การอนามัยโลกแนะนำให้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ซึ่งจากการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของทารก และเด็กเล็กต่อพัฒนาการและสมองของทารกและเด็กเล็ก พบว่าการให้นมแม่ยิ่งนานจะเพิ่มเชาวน์ปัญญาด้านภาษา (verbal IQ) และเชาวน์ปัญญาด้านการปฏิบัติ (Performance IQ) ดังนั้น เด็กที่กินนมแม่นาน 6 เดือนหรือมากกว่า จะมีเชาวน์ปัญญาด้านภาษามากกว่า 10.2 จุด และเชาวน์ปัญญาด้านการปฏิบัติมากกว่า 6.2 จุด เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่และ ผลการศึกษาเด็กคลอดก่อนกำหนด 300 คน เมื่ออายุ 7-8 ปี พบว่าเด็กได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจะมี IQ สูงกว่า 8.3 เมื่อเปรียบเทียบกับทารกที่กินนมผสม
ทางด้าน น.ส.นิศาชล เศรษฐไกรกุล หัวหน้าโครงการวิจัยนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายใต้สำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ ชี้ข้อมูลวารสารการแพทย์ The Lancet และองค์การยูนิเซฟ ระบุการกินนมแม่จะช่วยป้องกันการตายของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ได้ถึง 800,000 คนทั่วโลกต่อปี ป้องกันเด็กไทยตายได้ 260 คนในแต่ละปี และประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพปีละกว่า 200 ล้านบาทในไทย องค์การยูนิเซฟสนับสนุนให้ภาครัฐออกกฎหมายตามแนวทางองค์การ อนามัยโลกให้เร็วที่สุด เพื่อให้แม่ได้รับข้อมูลการให้อาหารลูกที่ถูกต้องและเหมาะสม

ร่วมแสดงความคิดเห็น