คุมตัว “บุญเลิศ” ถึงสนามบินเชียงใหม่

S_4699610601067

ทหาร-ตำรวจ คุมตัว นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมผู้ต้องหารวม 11 คน เดินทางจากกองปราบ ด้วยเครื่องบินมากองบัญชาการตำรวจภาค5 เพื่อสอบปากคำ กำหนดภายใน 48 ชั่วโมง ก่อนส่งตัวขึ้นศาลทหารเชียงใหม่ที่ มทบ.33 ท่ามกลางการดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เต็มที่
 วันที่ 2 ส.ค.59 จากกรณีคดีของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด พรบ.การออกเสียงประชามติในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และนำไปสู่ความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ มาตรา 210 ตามคำสั่งของทหารนั้น ซึ่ง พล.ต.ท.ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ผบช.ภ.5 ที่ได้เปิดเผยว่า ทางศาลทหารได้เห็นชอบให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกรณีจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 11 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยรายชื่อดังต่อไปนี้  1.นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ 2.นางสาวทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ 3.นายวิศรุต คณะนิติสาร พนักงานเทศบาลตำบลช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 4.น.ส.ธารทิพท์ บูรณุปกรณ์ ทันตแพทย์ชำนาญการเทศบาลตำบลช้างเผือก และเป็นน้องสาวของทัศนีย์และทัศนัย บูรณุปกรณ์ 5.นายคเชน เจียกขจร นายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก 6. นายอติพงษ์ คำมูล ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่เทศกิจเทศบาลตำบลช้างเผือก จ.เชียงใหม่ 7.น.ส.เอมอร ดับโศรก ผู้ช่วยนักวิชาการส่งเสริมสุขภาพเทศบาลตำบลช้างเผือก 8. นางสุภาวดี งามเมือง กรรมการ บริษัท เชียงใหม่ทัศนาภรณ์ จำกัด 9. นางกอบกาญจน์ สุตีคา พนักงาน บริษัท เชียงใหม่ทัศนาภรณ์ จำกัด 10.นายกฤติกร โพทะยะ ผู้ช่วยบุคลากรเทศบาลตำบลช้างเผือก จ.เชียงใหม่ 11.นายเทวรัตน์ อินต้า คนขับรถของน.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์
ขณะที่รายงานข่าวเปิดเผยว่า ในส่วนของรายที่ 12 คือ นายไพรัช ใหม่ชมภู รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่  และรายที่ 13 คือ นายอัครพล ถนอมศิลป์ เจ้าของโรงพิมพ์นพบุรีการพิมพ์ ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เกี่ยวข้องการจัดพิมพ์เอกสารจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นยังไม่ได้ออกคำสั่งศาล และยังคงอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน โดยทั้ง 2 คนยังคงอยู่ที่ มทบ.11 กรุงเทพมหานคร
S_4699610625468
โดยรายงานข่าวแจ้งความคืบหน้าต่อไปว่า ในวันนี้ได้มีการนำตัวเลขานุการของนายคเชนท์ เจียกขจร นายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก ซึ่งคาดว่าเป็นรายที่ 14 ไปยัง มทบ.11 เพื่อสืบสวนเพิ่มเติมถึงการเกี่ยวโยงกรณีบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ และภายในวันที่ 2 สิงหาคม 2559 นี้ การควบคุมตัวผู้เกี่ยวข้องทางคดีทั้ง 11 คน ของ มทบ.11 จะหมดลง เพราะครบอำนาจการคุมตัว 7 วัน ทำให้ทางกองปราบปรามได้มีการประสานงานให้พนักงานสอบสวนตำรวจภูธร ภาค 5 เดินทางเข้ามาแจ้งข้อหาเกี่ยวกับการกระทำความผิด  ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยง ปลุกปั่น และ ม.210 สมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปกระทำการเข้าข่ายอั้งยี่ ซ่องโจร ซึ่งกองปราบปรามได้ประสานให้พนักงานสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5 เดินทางเข้าแจ้งข้อหาเกี่ยวกับการกระทำความผิด พรบ.การออกเสียงประชามติ ที่ตำรวจกองปราบปราม และจะมีการมอบหมายให้ดำเนินการสอบสวนที่กองปราบปราม โดยพนักงานสอบสวนของภาค 5 อยู่ร่วมสอบสวนด้วยภายใน 48 ชั่วโมง
ขณะที่ล่าสุดเมื่อเวลา 16:00 น. วันนี้ (2 ส.ค.59) ทางทหารและตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมด รวมทั้ง นายบุญเลิศ บูรปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เดินทางมาโดยเครื่องบินของกรมตำรวจมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ และทำการรักษาความปลอดภัยในการควบคุมตัวผู้ต้องหาอย่างเต็มที่จากท่าอากาศยานอาหารกองบิน 41 เดินทางมาถึงสำนักงานตำรวจภูธรภาค5 ซึ่งมีการเตรียมอาคารของกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5 เป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อสอบปากคำโดยตั้งโจทย์ที่สามารถคุมตัวในการสอบปากคำไว้ได้ 48 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีการส่งตัวขึ้นศาลทหารภายในมณฑลทหารบกที่33
S_4699610630745
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะที่ นางเนติธัช อภิรติมัย นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ปฏิบัติการ เทศบาลตำบลช้างเผือก ซึ่งเป็นเลขานุการของ นายคเชนท์ เจียกขจร นายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก และนายอัครพล ถนอมศิลป์ เจ้าของโรงพิมพ์นพบุรีการพิมพ์ ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เกี่ยวข้องการจัดพิมพ์เอกสารจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ (ยังไม่ออกหนังสือ) ล่าสุดยังคงถูกคุมตัวสอบสวนอยู่ที่ มทบ.11 กรุงเทพฯ เพื่อรอการสอบสวนให้เสร็จสิ้น โดยหากมีความผิดจริงจะถูกนำตัวเดินทางกลับมาขึ้นศาลทหารที่ มทบ.33 ต่อไป
ทั้งนี้ ทางด้าน พล.ต.ต.มนตรี สัมบุณณานนท์ ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับทางสื่อมวลชน หลังทำการรับตัว  นายบุญเลิศ บูรปกรณ์ และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดซึ่งเดินทางมาถึงท่าอากาศยานอาหารกองบิน 41 ว่า ในวันนี้ได้รับคำสั่งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งได้เดินทางไปรับตัวผู้ต้องหาที่ได้มีการควบคุมทั้งหมดตามคำสั่งของ คสช.เป็นเวลา 7 วัน โดยทางเจ้าหน้าที่ทหารได้มอบตัวบุคคลดังกล่าวที่กองปราบ ซึ่งเมื่อเช้านี้ได้มีการแถลงข่าวไปแล้ว ซึ่งในส่วนของตนก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบตัวผู้หาในการเดินทางกลับมายังจังหวัดเชียงใหม่ โดยในขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นเรื่องของการดำเนินคดีทางอาญา โดยมีอยู่ 3 ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา 116 ประกอบด้วย ยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง ส่วนอันที่ 2 คือเรื่องของการกระทำดังกล่าวซึ่งมีบุคคลเกินกว่า 5 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นลักษณะของอั้งยี่ ซ่องโจร และประการที่ 3 คือเรื่องของ พรบ.ประชามติ ตามมาตรา 61(2) และ (4) เกินกว่า 5 คนขึ้นไป โดยในส่วนนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการและพนักงานสืบสวนสอบสวนไว้แล้ว ซึ่งจะต้องดำเนินการตามหน้า ส่วนในเรื่องของการประกันตัวนั้น อยู่ในระหว่างการสอบสวนซึ่งคงต้องคัดค้านการประกัน
S_4699742051212
ขณะที่ทางด้าน  พล.ต.โกศล ประทุมชาติ ผบ.มทบ.33 กล่าวเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนจากนี้ไปทั้ง 11 ท่าน จะอยู่ในความควบคุมของพนักงานสอบสวน ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ถ้าพนักงานสอบสวนดำเนินการเกินอำนาจ 48 ชั่วโมง ก็จะต้องใช้อำนาจศาลซึ่งขณะนี้เป็นการขึ้นศาลทหาร โดยศาลจะให้ดำเนินการเป็นการฝากขังได้ครั้งละไม่เกิน 12 วัน รวมแล้วไม่เกิน 84 วัน หรือ 7 ครั้ง และต้องดำเนินคดีให้แล้วเสร็จ ส่วนการให้ประกันหรือไม่นั้นจะต้องอยู่ในดุลยพินิจของทางพนักงานสอบสวนและทางศาลอีกครั้งหนึ่ง และหากไม่มีการประกันทั้ง 11 คน ผู้ชายก็จะถูกส่งตัวไปอยู่ที่เรือนจำที่ อ.แม่แตง ส่วนผู้หญิง ก็จะอยู่ที่เรือนจำทัณฑสถานหญิงที่ด้านหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ แต่ในส่วนของกรณีข้าราชการท้องถิ่นจะต้องสอบถามกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด
ซึ่งทางด้าน นายปวิณ ชํานิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตามระเบียบของทางกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารหรือรองผู้บริหารท้องถิ่นปี 2554 ซึ่งเป็นหน้าที่ของทางตนที่จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา เพื่อรับทราบว่าได้มีการจัดทำและกระทำความผิดจริงหรือไม่ และจะได้ดำเนินการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดเพื่อพิจารณาต่อไป
โดยระยะเวลาขั้นตอนแรกคือดำเนินการเรื่องการรวบรวมข้อมูลจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วแจ้งข้อหาและให้ทางผู้ต้องหาดำเนินการแก้ตัวตามระเบียบต่อไปก่อนและดำเนินการสอบสวนต่อ ซึ่งจะใช้เวลาตามระยะเวลาที่ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ประมาณ 120 วัน ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งพบว่ามีมูล หลังจากนั้นก็ต้องสอบสวนเพิ่มเติมตามระเบียบของทางกระทรวงมหาดไทยต่อไปS_4699742051212
อย่างไรก็ตามในส่วนเรื่องของการไม่ให้ประกันตัวนั้น ทาง  พล.ต.ต.มนตรี สัมบุณณานนท์ ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ ระบุว่า ในชั้นสอบสวนจะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานและสอบปากคำ และมีการแจ้งข้อกล่าวหาว่าโดยให้บุคคลดังกล่าวทั้ง 11 คน รับทราบข้อกล่าวหาจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการการสอบสวน ซึ่งจะดำเนินการสอบให้เสร็จภายใน 48 ชั่วโมง แล้วจากนั้นจะได้ยื่นต่อศาลทหาร มณฑลทหารบกที่ 33 ต่อไป ส่วนการเตรียมการรับมือมวลชนที่จะออกมาเคลื่อนไหวนั้นก็ได้มีการจัดชุดเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลในพื้นที่แล้ว ขณะเดียวกันเรื่องของการออกหมายจับเพิ่มหรือไม่นั้นจะต้องดำเนินการสอบสวนก่อนแล้วจึงจะรายงานให้ทราบเป็นระยะๆ โดยการดำเนินการสอบสวนนั้นจะเริ่มนับตั้งแต่วันนี้ แต่หากสอบสวนเสร็จก่อนหรือหมดความจำเป็นในเรื่องของการควบคุมผู้ต้องหาก็จะยื่นให้ศาลขอให้ควบคุมตัวในทัณฑสถานต่อไป
ส่วนในเรื่องของการสอบสวนที่ยังค้างอยู่นั้นก็มีในเรื่องของนิติวิทยาศาสตร์และในเรื่องของรายงานหลายๆ เรื่อง ซึ่งตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการรวบรวมและสอบปากคำไปแล้วมากกว่า 50 ปากพยานที่เกี่ยวข้อง ส่วนในเรื่องของผู้ต้องหาที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นนั้นทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีความกังวลแต่อย่างใด และปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเบื้องต้นในส่วนของการสอบสวนนั้น บางคนก็ให้การในแบบให้การปฎิเสธ หรือรับบ้างปฏิเสธบ้าง ซึ่งได้รับว่ามีการจัดทำในเรื่องของจดหมายดังกล่าวขึ้นมาจริง และในส่วนที่ปฏิเสธคือปฏิเสธในเรื่องของข้อกฎหมายว่าการกรทำดังกล่าวไม่ผิดกฎหมายตาม พรบ.ประชามติ
วีรศักดิ์ ปัญญาโชติ รายงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น