“มะละกอ”ปลูกอย่างไร ? ให้ได้คุณภาพ

B2
นอกจากจะใช้มะละกอบริโภคเป็นอาหารในชีวิตประจำวันแล้ว ผลมะละกอดิบ ผลมะละกอสุก และส่วนของยางยังใช้เป็นประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมได้อีกหลาย ๆ ด้าน เช่น เนื้อมะละกอดิบสามารถนำไปทำมะละกอเชื่อม แช่อิ่ม ดองเค็ม หรือใช้ในโรงงานปลากระป๋อง ผลมะละกอสุกสามารถใช้ทำน้ำผลไม้ ผลิตซ๊อส ผลไม้กระป๋อง แยม ลูกกวาด และมะละกอผง เปลือกมะละกอใช้ทำเป็นอาหารสัตว์หรือสีผสมอาหาร ยางมะละกอใช้ในโรงงานผลิตเบียร์ ผลิตน้ำปลา อาหารกระป๋อง อุตสาหกรรมเคมีและเครื่องสำอางค์ เป็นต้น
เนื้อบริเวณโคนลำต้นหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ลวกกับเกลือตากแดดทำแบบหัวผักกาดเค็มเป็นอาหาร ยามขาดแคลนอาหาร ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออกนั้นกินยอดต้นอ่อนและใบอ่อนเป็นอาหาร นอกจากนี้ส่วนต่าง ๆ ของมะละกอยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร เช่น เมล็ดขับพยาธิ เป็นต้น
ส่วนที่เป็นประโยชน์ของมะละกอ คือ ช่วยแก้กระหายน้ำ เนื่องจากมีปริมาณความชื้นสูง เหมือนผักผลไม่อื่นทั่วไป มีบริเวณของคาร์โบไฮเดรตและเส้นใยค่อนข้างสูงทำให้ช่วยในระบบขับถ่ายของเสียจากร่างกาย นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุและวิตามินต่าง ๆ สูง คือธาตุเหล็ก (บำรุงเลือด) แคลเซียม (บำรุงกระดูก) วิตามินเอ (บำรุงสายตา) วิตามินบี (บำรุงประสาท) และวิตามินซี (รักษาเลือดออกตามไรฟันหรือโรคลักปิดลักเปิด) อย่างไรก็ตามวิตามินบางอย่างที่ทนต่อความร้อนสูงไม่ได้และจะสลายตัวไปในระหว่างการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
การคัดเลือกมะละกอไปทำพันธุ์เพื่อการค้า
การเลือกมะละกอไปทำพันธุ์ในการค้า เราต้องการมะละกอสมบูรณ์เพศมาก จึงต้องทำการผสมตัวเองหรือผสมข้ามต้นสมบูรณ์เพศเพื่อให้ได้ผลยาวมากในที่นี้จะได้ผลยาว 2 ส่วน ประมาณ 66% ผลกลมต้นตัวเมีย 33% การรักษาสายพันธุ์หรือทำเมล็ดพันธุ์จึงควรเลือกต้นมะละกอสมบูรณ์เพศที่มีความแข็งแรง ติดผลดกในแปลงของท่านเอง แล้วใช้ถุงกระดาษหรือถุงผ้าขาวบางคุลมดอกสมบูรณ์เพศของต้นสมบูรณ์เพศที่จะบานในวันรุ่งขึ้นไว้ แขวนป้ายชื่อพันธุ์พร้อมวันที่ การคลุมถุงจะคลุมไว้ประมาณ 7 วัน แล้วถอดเอาถุงออก ถ้าเป็นมะละกอพันธุ์ปากช่อง หนึ่งผลจะได้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 150-350 เมล็ด มะละกอพันธุ์แขกดำจะมีเมล็ด 438-1,044 เมล็ดต่อผล ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องผสมไว้หลาย ๆ ผลเพื่อให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกในพื้นที่
การผสมตัวเองของมะละกอ แม้ว่าทำเพียง 4 ชั่วอายุ ก็จะทำเป็นสายพันธุ์คัดได้ ถ้าปลูกในหมู่เดียวกัน ห่างจากพันธุ์อื่นประมาณ 1 กิโลเมตร ก็เป็นพันธุ์บริสุทธิ์ที่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ เมล็ดที่ได้เมื่อนำไปเพาะจะได้ต้นสมบูรณ์เพศ 2 ส่วน ต้นตัวเมีย 1 ส่วน การเก็บเมล็ดทำพันธุ์ต้องเลือกเก็บเมล็ดจากผลที่มีผิวสีเหลืองหรือส้มที่ผลประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ระวังอย่าให้ผลที่เก็บมาได้รับความกระทบกระเทือน หรือช้ำเสียหาย
การเตรียมเมล็ดมะละกอก่อนนำไปเพาะปลูก
เมื่อผลแก่เมล็ดจะเปลี่ยนเป็นสีดำและจะหลบคมมีดได้ การเอาเมล็ดที่อยู่ในผลที่แก่ไปเพาะทันทีจะมีอัตราการงอกของเมล็ดต่ำ เพราะเยื่อหุ้มเมล็ดชั้นนอกมีสารยับยั้งการงอกอยู่ การที่จะทำให้มีการงอกสูงขึ้นทำได้โดยเอามือขยี้เปลือกหุ้มเมล็ดออกให้หมด หรือเอาเมล็ดที่รวบรวมจากผลใส่ในถ้วยหรือกะละมังใส่น้ำให้ท่วมเมล็ดทิ้งไว้ 48 ชั่วโมง เยื่อเมล็ดจะเน่าหลุดง่าย เอามือขยี้เยื่อหุ้มเมล็ดออกแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง แล้วนำเมล็ดคลุกยาป้องกันเชื้อราให้ทั่ว นำไปเพาะได้ทันทีหรือถ้าจะเก็บรักษาเมล็ดไว้ให้นานก็เอาเมล็ดคลุกยาป้องกันราให้ทั่วแล้วใส่ในถุงพลาสติกผูกปากถุงให้แน่น นำไปเก็บไว้ในที่เย็น เช่น ช่องผักของตู้เย็น เป็นต้น
ฤดูปลูกมะละกอ
ปกติแนะนำให้เกษตรกรเพาะกล้าในช่วงกลางหรือปลายเดือนมกราคม ซึ่งจะสามารถย้ายต้นกล้าลงปลูกได้ประมาณกลางเดือนมีนาคม และจะเก็บเกี่ยวผลได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีผลไม้ประเภทอื่น ๆ ในท้องตลาดออกน้อยทำให้มะละกอมีราคาสูง ถึงแม้ว่าเกษตรกรชาวสวนที่ปลูกโดยอาศัยน้ำฝน ก็จะมีผลผลิตออกขายได้ยาวนาน แต่ถ้าเพาะเมล็ดช้าหรือย้ายปลูกช้าทำให้ช่วงที่มะละกอออกดอกติดผลตรงกับช่วงแล้งต้องใช้น้ำชลประทานมาก จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก การเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงที่ได้ราคาสูงจะได้น้อยกว่า
วิธีการปลูกมะละกอ
ให้นำต้นกล้าเรียงกระจายไว้ตามหลุมต่าง ๆ หลุมละหนึ่งถุง หลังจากนั้นกรีดถุงพลาสติกออก เอาต้นกล้าวางให้ตรงตำแหน่งระยะปลูกกลางหลุม กลบดินให้แน่นโดยเฉพาะรอบ ๆ ติดกับโคนต้นเพื่อให้รากจับดินใหม่ได้เร็ว ต้นจะตรงกันทุกแถวแล้วรดน้ำให้ชุ่มการปลูกมะละกอเป็นการค้า แม้วjาจะใช้เมล็ดจากผลมะละกอสมบูรณ์เพศ แต่เมล็ดที่ปลูกจะได้ต้นมะละกอสมบูรณ์เพศเพียง 66 เปอร์เซ็นต์ อีก 33 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้นเพศเมียซึ่งผลกลมตลาดให้ราคาถูก ถ้าอยากได้มะละกอผลยาวมากขึ้น ให้ปลูกต้นมะละกอให้มากต้นต่อหลุม และตัดต้นเพศเมียออกเมื่อออกดอกแล้ว จะได้ต้นสมบูรณ์เพศมากขึ้น
การให้น้ำในระบบชลประทาน
ถ้าเกษตรกรปลูกมะละกอช่วงต้นฤดูฝนจะช่วงประหยัดทุนและแรงงานในการให้น้ำ โดยเฉพาะในช่วงปลูกใหม่ ๆ จะต้องให้น้ำกับต้นกล้ามะละกอจนกว่าจะตั้งตัวได้ โดยรดน้ำ 2-3 วันต่อครั้ง และที่สำคัญคือช่วงที่มะละกอออกดอกติดผลเป็นช่วงที่ต้องการน้ำมาก การขาดน้ำจะทำให้ดอกร่วง ผลร่วง ผลไม่สมบูรณ์ การให้น้ำกับต้นมะละอกอย่างสม่ำเสมอจึงทำให้มะละกอมีผลผลิตสูง โดยเฉพาะมะละกอที่ปลูกในที่ดอนหรือในเขตจังหวัดในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(พื้นที่ดินร่วนปนทราย)
การให้ปุ๋ยมะละกอ
ปุ๋ยมะละกอที่เตรียมไว้สำหรับรองก้นหลุมนั้นยังไม่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของมะละกอ จำต้องมีการใช้ปุ๋ยเสริมเพิ่มขึ้น เพื่อให้มะละกอมีการเจริญเติบโตเต็มที่มีลำต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง การใส่ปุ๋ยอินทรีย์จะใส่หลังจากปลูกแล้ว 2-3 เดือนโดยแบ่งใส่ 3-4 ครั้ง ในระยะ 1 ปี ตลอดช่วงฤดูฝน แบ่งใส่ครั้งละประมาณ 5 กิโลกรัมต่อต้น
ปุ๋ยวิทยาศาสตร์อาจใช้ปุ๋ยทางใบสูตร 21-21-21 ชนิดที่มีอาหารธาตุรองฉีดพ่นทุก 14 วันต่อครั้ง หลังย้ายปลูกเพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรง โดยใช้ในอัตรา 2-3 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร ขณะเดียวกันก็อาจใช้ปุ๋ยทางดินสูตร 15-15-15 อัตราต้นละ 50 กรัม หลังจากย้ายปลูก 1 เดือน และใส่ปุ๋ยทุกเดือนจนถึงเดือนที่ 3 หลังย้ายปลูกจะใส่เพิ่มเป็นต้นละ 100 กรัมทุกเดือน เมื่อมะละกอติดผลแล้วจะใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 100 กรัม ผสมกับยูเรีย อัตรา 50 กรัมต่อต้น
*** วิธีการให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ทางดิน ให้ใช้การหว่านลงบนดินบริเวณทรงพุ่ม(รัศมีทรงพุ่มของมะละกอ)แล้วพรวนดินกลบ รดน้ำตามอย่าใส่ปุ๋ยชิดโคนต้น เพราะจะทำให้มะละกอเสียหายได้
การออกดอกติดผลของมะละกอ
ต้นมะละกอเมื่อย้ายปลูกลงแปลงได้ 8-10 สัปดาห์จะเริ่มออกดอก โดยดอกจะอยู่เหนือก้านใบ และจะเห็นชัดว่าเป็นดอกเพศใด ถ้าเป็นต้นเพศเมียก็ตัดฟันออกในระยะนี้ ถ้าเป็นดอกสมบูรณ์เพศก็เอาไว้บำรุงต้นให้สมบูรณ์แข็งแรงและติดผล เกษตรกรต้องตรวจดูผลที่ติดว่าเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ติดผลเป็นพลูหรือให้ผลบิดเบี้ยวหรือไม่ ถ้ามีก็ให้ปลิดออกตั้งแต่ผลยังเล็ก ๆ หรือแม้ว่าผลที่ปกติในช่อเดียวกันอาจติดผลมาก ผลที่เบียดกันจะไม่โตทำให้ไม่ได้ขนาดมาตรฐาน ควรปลิดออกเช่นกัน ผลที่ได้มาตรฐานขนาดใกล้เคียงกันจำหน่ายง่าย ในระยะติดผลต้องคอยกลบดินโคนต้นหรือพูนโคนป้องกันการโค่นล้ม เพราะน้ำหนักผลไม่สม่ำเสมอกัน หรือใช้การปลิดผลไม่ให้ต้นรับน้ำหนักมากด้านใดด้านหนึ่งก็ป้องกันต้นโค่นล้มได้

…….ภาควิชาพืชสวน ม.เกษตรศาสตร์………..

ร่วมแสดงความคิดเห็น