ก.เกษตรฯรุกตรวจเข้ม คุณภาพนมโรงเรียน

B2

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ว่า ได้มีการเน้นย้ำให้เร่งรัดดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์นมทั้งระบบให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้เป็นกรอบในการวางแผนดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการนมทั้งระบบ ทั้งนมพาณิชย์ และนมโรงเรียน และเนื่องจากเป็นช่วงใกล้จะหมดภาคเรียนการศึกษา และเริ่มภาคเรียนการศึกษาใหม่ จึงได้มีการพิจารณาถึงภาพรวมการทำบันทึกข้อตกลง MOU เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินการได้ทันในภาคเรียนการศึกษาใหม่และเกิดความต่อเนื่อง อาทิ เรื่อง หลักเกณฑ์เงื่อนไข และขั้นตอนการจัดทำบันทึกข้อตกลง MOU การซื้อขายน้ำนมโค ปี 2559/60 เรื่อง ศูนย์รวบรวมน้ำนมโคที่จะจัดทำ MOU เป็นต้น

นายธีรภัทร กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียน จากที่มีข่าวว่านมโรงเรียนไม่ได้คุณภาพมาตรฐานนั้น ได้มีการประชุมร่วมกับกรรมการที่ตรวจสอบคุณภาพนม ซึ่งยืนยันตรงกันว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูล ปี 2555-2558 และได้มีการปรับเปลี่ยนพัฒนาในเรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆ มาบ้างแล้ว และได้มีการลงโทษผู้ประกอบการที่ไม่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในก่อนหน้านี้ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าจะนัดประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) และหน่วยงานด้านเทคนิคอื่นๆ เพื่อให้การดำเนินการตรวจสอบนมเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส และเพื่อยืนยันว่านมโรงเรียนในปัจจุบันมีคุณภาพมาตรฐานที่ดี ดื่มได้ไม่ต้องกังวล

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2558 และต้นปี 2559 ได้มีการตรวจพบการผลิตนมที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ ซึ่งเป็นการตรวจสอบตามขั้นตอนตามมาตรการการตรวจสอบ และนมดังกล่าวยังไม่ได้แจกจ่ายแก่เด็กนักเรียน โดยพบผู้ประกอบการบางรายผลิตนมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมิลค์บอร์ดในต่างกรณีกันไป เช่น องค์ประกอบไขมันไม่ได้ครบตามที่กำหนด ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปีการศึกษา 2559 ที่ระบุว่า ข้อ 6.5 ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมต้องผลิตนมที่มีคุณภาพ ข้อ 6.5.3 ผลิตนมโรงเรียนให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง นมโคและมาตรฐานจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค พร้อมแสดงหลักฐานการตรวจยาปฏิชีวนะในน้ำนมดิบ จึงได้มีการลงโทษใน หมวด 7 มาตรการควบคุมกำกับดูแลการบริหารจัดการ และคุณภาพนมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ข้อ 26.1.1 กรณีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใน ข้อ 6.3 ข้อ 6.4 และข้อ 6.5 โดยให้ตัดสิทธิส่วนที่เหลือทันที ซึ่งต่อจากนี้หากผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามประกาศดังกล่าว ก็จะถูกตัดสิทธิดำเนินการทันที ทั้งนี้ คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ได้มีการตัดสิทธิโควตาผู้ประกอบการแล้ว 7 ราย ปริมาณรวม 120 ตันต่อวัน จนกว่าจะสิ้นสุดปีการศึกษา 2559 เนื่องจากผลการตรวจสอบคุณภาพนมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม และไม่ผ่านมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญในการควบคุมมาตรฐานนมโรงเรียน และมีการลงโทษผู้ประกอบการที่ไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์อย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ)ที่ได้เน้นย้ำให้ความสำคัญในการควบคุมคุณภาพนมโรงเรียนที่ต้องมีมาตรฐานที่ดี และได้ลงโทษตัดสิทธิผู้ประกอบการที่ตรวจสอบพบว่า ผลิตนมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์โดยเป็นไปตามมติของมิลค์บอร์ด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสิทธิในโควต้าของผู้ประกอบการที่ถูกตัดสิทธิจะมีสมาคมผู้ผลิตนมยูเอชที สมาคมผู้ผลิตนมพลาสเจอร์ไรซ์ และสมาคมแปรรูปผลิตภัณฑ์นม นำไปดำเนินการดูแลในเบื้องต้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตนมโรงเรียน หลังจากนั้นจะดำเนินการตามแผนที่วางไว้ โดยจะมีผู้ประกอบการ สหกรณ์ และผู้ประกอบการเอกชนรายอื่นๆ ที่ได้ขึ้นบัญชีตามลำดับ เข้ามารับสิทธิแทนต่อไป” นายธีรภัทร กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น