“กาดงัว” ของคนเมือง

img_2418
ปัจจุบันนี้แม้ว่าจะไม่มีการซื้อขายวัวควายในตลาดแห่งนี้กันแล้ว สถานที่ ๆ เคยใช้เป็นลานซื้อขายวัวควายก็ได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นตลาดซื้อขายรถจัรยานยนต์มือสองไปหมด มีพ่อค้าจากที่ต่าง ๆ เดินทางมาซื้อขายรถกันที่นี่แทบทุกสัปดาห์ นอกจากจะเป็นแหล่งซื้อขายรถแล้ว ยังมีพ่อค้าแม่ค้านำเครื่องใช้ไม้สอย ของกินของใช้รวมไปถึงเสื้อผ้าอาภรณ์นำมาตั้งแผงขายกันมากมาย ชาวบ้านบอกว่า “ตลาดวัวก็เปรียบเสมือนห้างสรรพสินค้าของคนชนบทนั่นเอง”

ผมจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเป็นเด็กได้มีโอกาสไปเที่ยวตลาดวัว หรือ คนเมืองเรียกสั้น ๆ ว่า “กาดงัว” กับพ่อแม่ ด้วยความซุกซนของเด็กในตอนนั้นเมื่อไปถึงกาดงัว ผมจำได้ว่ามักจะไปยืนดูเขาซื้อขายวัวควายกันที่ตลาดแห่งนี้ รถสิบล้อหลายคันบรรทุกวัวควายมาเต็มคันรถจอดเรียงรายเพื่อรอเวลาซื้อขาย

ปัจจุบันภาพในอดีตต่าง ๆ เหล่านี้ของผมแทบไม่เหลืออยู่ในความทรงจำเดิม เมื่อผมมีโอกาสไปยังตลาดที่เดิมในเวลาห่างกันกว่าสิบปี ตลาดวัวได้เปลี่ยนสภาพจากที่ซื้อขายวัวควายมาเป็นแหล่งชอปปิ้งขนาดย่อมของคนเมือง สินค้านานาชนิดทั้งเสื้อผ้า ของกินของใช้ถูกนำมาวางขายแบกะดิน แต่กระนั้นก็ยังมีเหลือไว้ซึ่งสินค้าเกษตรกรรมบางอย่างจำพวก อุปกรณ์หาปลา ซุ่มไก่และเครื่องจักสานต่าง ๆ

img_2396จะว่าไปแล้วสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวน่าจะมาจาก ความเจริญของบ้านเมืองรวมถึงรสนิยมการบริโภคของคนเมืองที่หันไปสนใจวัฒนธรรมของต่างถิ่นมากยิ่งขึ้น สังเกตจากในตลาดวัวมีการนำเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สมัยมาจำหน่ายด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนหนทางมีความสะดวกสบายมากขึ้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็นิยมซื้อรถมอเตอร์ไซด์ไว้ขี่ และที่ตลาดวัวนี่เองจึงได้กลายมาเป็นตลาดซื้อหารถมอเตอร์ไซด์มือสองที่นิยมของชาวบ้าน

ในสมัยก่อนตามหมู่บ้านในชนบทภาคเหนือ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา เมื่อถึงช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวแล้วชาวบ้านมักจะจัดงานบุญขึ้น แต่การที่จะเดินทางเข้ามาจับจ่ายซื้อของในเมืองนั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะถนนหนทางในสมัยก่อนยังไม่สะดวก จึงมีพ่อค้าจากต่างถิ่นนำสินค้ามาจำหน่ายในหมู่บ้าน บางก็นำวัวควายมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ดังนั้นมีตลาดนัดวัวควายเกิดขึ้นมากมายตามอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน มีบันทึกจากสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า ปีพ.ศ.2478 ตลาดนัดวัวควายแห่งแรกเกิดขึ้นที่บ้านป่ายาง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ติดตลาดทุกวันอังคาร พอปี พ.ศ.2488 ตลาดแห่งที่สองก็เกิดขึ้นมาที่บ้านแม่ย่อย อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โดยติดตลาดทุกวันจันทร์และศุกร์ ในเวลาต่อมาตลาดนัดวัวควายก็ได้ขยายตัวออกไปยังจังหวัดอื่น แต่จะสับหลีกวันติดตลาดไม่ให้ตรงกัน ปัจจุบันตลาดนัดวัวควายที่ถือว่ามีการซื้อขายวัวควายกันอยู่และอาจเหลือเพียงแห่งเดียวก็คือ ตลาดทุ่งฟ้าบด อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งติดตลาดทุกวันเสาร์ ส่วนที่จังหวัดลำพูนก็มีตลาดนัดเหมือนกันแต่จะเป็นตลาดที่เล็กกว่าที่อื่น ๆ

สาเหตุหนึ่งของการเกิดตลาดนัดก็คือ คนสมัยก่อนเมื่อเวลาจูงวัว ควายไปทำนาก็มักจะถูกชาวบ้านด้วยกันติดต่อขอซื้อวัว ควายซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีสถานที่ซื้อขายกันแน่นอน กระทั่งชาวบ้านได้กำหนดสถานที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนวัวควายกันขึ้น จึงเป็นที่มาของ “ตลาดวัว” หรือ “ตลาดนัด” ของชุมชนในปัจจุบัน

img_2423

img_2403จะสังเกตเห็นว่า สมัยก่อนคนมากาดวัวเพื่อหาซื้อวัวไปใช้งานทำไร่ทำนาเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นช่วงเวลาที่คึกคักที่สุดของตลาดวัวก็คือ ช่วงเข้าฤดูทำนานี่เอง เจ้าอุบลวรรณา ณ เชียงใหม่ เจ้านายฝ่ายเหนือของเชียงใหม่ช่วงสมัยเจ้าอินทวิชยานนท์เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.2413 – 2440) ได้เล่าให้ ฮอลเล็ต (H.S.Hollet) นักเดินทางสำรวจฟังว่า ในปีหนึ่ง ๆ มีการนำวัวควายกว่าห้าพันถึงหกพันตัว จากเมืองหลวงพระบางเข้ามาขายยังเชียงใหม่ นั่นอาจแสดงว่าสมัยก่อนคงจะมีการซื้อขายวัวควายกันอย่างมาก แต่ปัจจุบันนี้วัวควายส่วนใหญ่จะถูกนำไปส่งขายยังโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งมารับซื้อเป็นคันรถ

ดังนั้นราคาของวัวควายจึงมิได้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลทำนาอีกแล้ว หากแต่ขึ้นอยู่กับราคาเนื้อในตลาดเป็นสำคัญ
ปัจจุบันนี้แม้ว่าจะไม่มีการซื้อขายวัวควายในตลาดแห่งนี้กันแล้ว สถานที่ ๆ เคยใช้เป็นลานซื้อขายวัวควายก็ได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นตลาดซื้อขายรถจัรยานยนต์มือสองไปหมด มีพ่อค้าจากที่ต่าง ๆ เดินทางมาซื้อขายรถกันที่นี่แทบทุกสัปดาห์ นอกจากจะเป็นแหล่งซื้อขายรถแล้ว ยังมีพ่อค้าแม่ค้านำเครื่องใช้ไม้สอย ของกินของใช้รวมไปถึงเสื้อผ้าอาภรณ์นำมาตั้งแผงขายกันมากมาย ชาวบ้านบอกว่า “ตลาดวัวก็เปรียบเสมือนห้างสรรพสินค้าของคนชนบทนั่นเอง”
ทุกวันนี้วัวควายในไร่นาจะลดลง แต่ตลาดวัวควายก็ยังคึกคักอยู่ เพราะมีสินค้าหลากหลายชนิดมาขายที่ตลาดนี้ อดีตของตลาดวัวอาจเปลี่ยนแปลงไปตามยุคของกาลเวลา แต่ในสำนึกของผู้คนที่ได้เห็นตลาดวัวมาตั้งแต่เยาว์วัยเช่นผม ยังเชื่อว่าตลาดวัวจะยังเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าของคนในชุมชนต่อไปอีกแสนนาน

img_2386

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น