เร่งลุยแผน “เมืองไร้สายฯ” เชียงใหม่ ทั้งเสา-สาย…พัลวัน

แนวคิดการจัดการ เมืองให้ระบบสายไฟฟ้า สายสื่อสารที่รกรุงรัง มีความเป็นระเบียบ เรียบร้อย สู่โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคม แบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดินนั้น หลายๆจังหวัด ได้เริ่มดำเนินการมาบ้างแล้ว

2-jpg
ลำพูนก็เป็นอีกจังหวัดที่ดำเนินการแล้วในบางเส้นทาง..ย่านท่องเที่ยว

“เทศบาลนครตรัง” นับเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)แรกๆที่นำสายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดิน เมื่อปี 2545 ในส่วนเชียงใหม่นั้น “เทศบาลนครฯ” ได้เริ่มดำเนินการราวๆปี 2548..ในถนนช้างคลานย่านไนท์บาซาร์ ประมาณ 800 เมตร และ ท่าแพ 1.1 กิโลเมตร เป็นรูปเป็นร่าง สวยงามจริงๆจังๆก็ในปี 2553

จากนั้นการนำสายไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคลงใต้ดิน ทางอปท.ก็มีการประสานความร่วมมือกับการไฟฟ้าฯ, การประปาฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านระบบสื่อสาร โทรคมนาคม ลุยงานตามแผนฯ เพราะถูกจัดวางให้เป็น 1 ใน 18 จังหวัด ที่ต้องเร่งพัฒนา ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน นำสายไฟฟ้า และระบบสายสื่อสารลงใต้ดิน ตามโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนสายสำคัญๆที่เป็นย่านท่องเที่ยว แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545 -2549) กว่า10 ปีผ่านไป โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ของ”เมืองเชียงใหม่” ในรูปแบบเมืองไร้สาย-เสา-สายสื่อสาร ยังคืบหน้าไม่มากนัก อาจจะด้วยอุปสรรคปัญหาด้านงบฯ

หากอ้างอิงตัวเลขงบประมาณที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 (ภาคเหนือ) จังหวัดเชียงใหม่ นำเสนอแผนผ่านสื่อฯ ในรายละเอียด 3 โครงการ

  • โครงการพัฒนาระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้า ระยะที่ 9.1 วงเงิน 1,200 ล้านบาท เพื่อเพิ่มปริมาณการจ่ายไฟ 25 % ในพื้นที่บริการเชียงใหม่และลำพูน
  • โครงการพัฒนาสายส่งระบบจำหน่าย ระยะที่ 1 งบประมาณ 2,200 ล้านบาท
  • โครงการพัฒนาระบบในพื้นที่เชียงใหม่ ประมาณ 3,500 ล้านบาท โดยจะเป็นการนำสายไฟฟ้าและสายเคเบิลรอบคูเมืองลงใต้ดินทั้งหมด

เป็นอีกแผนที่จะช่วยเสริมการจัดภูมิทัศน์พื้นที่ภายในคูเมือง ให้สอดรับกับความเป็นเมืองเก่า จะเห็นได้ว่าต้องใช้เงินงบประมาณค่อนข้างสูง

(ข่าว : การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เสนอ 3 โปรเจคใหญ่ ยกระดับนำสายไฟรอบคูเมืองลงใต้ดิน)

6-jpg

5-jpg
จัดระเบียบสายไฟ-สายสื่อสารแล้วก็ควรจัดระเบียบป้ายฯด้วย

ความพยายามที่จะสร้าง”เมืองไร้สาย- นำระบบสายสื่อสาร”ลงใต้ดิน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย หรือ ขานรับข้อสั่งการจากระดับนโยบาย ในคำสั่งเร่งด่วนกับการนำสายไฟ-สายโทรคมนาคม ลงใต้ดินแล้วเสร็จใน 5 ปี จากแผนเดิม 10 ปี นับเป็นข่าวดี ด้วยงบ 4.8 หมื่นล้านบาท มอบให้ 5 หน่วยงาน ร่วมเป็นเจ้าภาพวางแผนลุยใน 39 เส้นทาง 127 กม. นำร่อง กรุงเทพ-เชียงใหม่ และภูเก็ต

15-jpg
เชียงใหม่อีกเมืองนำร่อง เมืองไร้สายไฟ-สายสื่อสาร

แนวคิดดังกล่าว ย่อมมีเสียงสะท้อนออกมาหลายด้าน การนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน โดยความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฯ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะมีความเชี่ยวชาญ มีงบฯที่สามารถบริหารจัดการได้จากศักยภาพที่การไฟฟ้าฯมีอยู่ ที่น่าห่วงคือการรวมระบบสายสื่อสาร สาธารณูปโภคลงพร้อมๆกัน โดยเทคนิค วิธีการ คงต้องเลือกพื้นที่ดำเนินการ งบฯในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับแผน ต้องพร้อม เพราะการขุดเจาะเปิดหน้างานไม่พร้อมกัน ก็อาจเกิดปัญหากับชุมชนได้

12-jpg
งบฯแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนต้องพร้อมกัน ไม่ใช่เปิดหน้างานจนเละเช่นที่ผ่านๆมา

อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า เทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า มีระบบการป้องกัน มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่วม ปัญหาสายไฟ สายสื่อสาร รั่ว ซ่อมบำรุงลำบาก  ค่าก่อสร้างส่งขึงอากาศ (Over head) หรือ สายไฟบนดิน ไปเป็นสายใต้ดิน (under-ground cable) ราคาแตกต่างกันมาก การดูแล ซ่อมบำรุง ก็ต่างกัน  แต่นี่ไม่ใช่ปัญหา เพราะวิศวกรไฟฟ้า ช่างเทคนิคในบ้านเราเก่ง และเทคโนโลยีทันสมัยกว่าเดิมมาก ในขณะที่ผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่ ยอมรับว่า โครงการนำระบบสายไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคลงใต้ดิน ไม่ใช่เรื่องง่าย จากผลงานที่ผ่านมาทั้งถนนช้างคลาน และท่าแพกว่าจะลุล่วง สำเร็จตามแผนฯ ขั้นตอนของงบฯสำคัญ และการบำรุงรักษา ซับซ้อน งบฯสูง

เร็วๆนี้มีแผนจะดำเนินการภายในบริเวณคูเมืองชั้นนอก ชั้นใน ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับงบฯสนับสนุนด้วยว่าจะได้รับมากน้อยเพียงใด ในแต่ละช่วงของโครงการฯที่ได้กำหนดไว้

3-jpg

อย่างไรก็ตาม มีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านว่า สายสื่อสาร สายระบบต่างๆที่ระเกะระกะตามแนวสายไฟ ในชุมชน ในแต่ละพื้นที่ จนอาจสร้างอันตรายจากการช๊อต เกิดไฟไหม้ ซึ่งมีเหตุการณ์เหล่านี้หลายครั้ง

หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ ควรรีบเร่งปรับปรุงแก้ไข ในทุกพื้นที่การจะทุ่มงบฯพัฒนา เร่งแก้ไขจุดใด ก็ควรเหลือบแลมอง จุดที่ชาวบ้านร้องเรียนนำเสนอเพื่อขอให้ช่วยเร่งแก้ไข

9-jpg
อย่าให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำซาก “ไฟช๊อตลุกไหม้” อาจลามไป สร้างความเสียหายได้อย่างคาดไม่ถึงทุกๆแห่ง

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น