วัดพระธาตุผาเงา ตำนานสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงแสน

ในอดีตเมืองเชียงแสนเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของคนไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งอพยพมาจากเมืองสิบสองปันนา มณฑลยูนนานประเทสจีนเรียกว่า ไทยลื้อ และอีกส่วนหนึ่งอพยพมาจากเมืองเชียงตุง รัฐฉานประเทสพม่า เรียกว่า “ไทยใหญ่” มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำกุกกนที หรือ แม่น้ำกก ที่ไหลผ่านไปสู่แม่น้ำขรนที หรือ แม่น้ำโขง ในยุคนั้นเชียงรุ้งและเชียงตุงเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศไทย

แต่เดิมบริเวณเมืองเชียงแสนเป็นที่ตั้งของอาณาจักรสุวรรณโคมคำที่รกร้างไปแล้ว ชาวไทยลื้อและไทยใหญ่ที่อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี่ได้ตั้งชื่อเมืองนี้ว่า เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ตามชื่อของสิงหนวัติกุมารที่มาจากเมืองราชคฤห์นคร หรือ อินเดีย ซึ่งเป็นผู้สร้างเมืองโดยมีพญานาคจำแลงกายเป็นพราหมณ์มาช่วยสร้าง ต่อมาเมืองนี้ถูกเรียกว่า โยนกนครไชยบุรีศรีช้างแสน หรือ เวียงโยนกนคร มีกษัตริย์ปกครองสืบทอดกันมาถึง 48 พระองค์

ที่บริเวณเนินเขาเล็ก ๆ ทอดตัวยาวมาจากบ้านจำปีผ่านบ้านดอยจันจนมาถึงบ้านสบคำคือเนินเขาดอยคำซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ของเมืองเชียงแสนประมาณ 3 กม.เป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุผาเงา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญคู่เมืองเชียงแสนอีกแห่งหนึ่ง ในอาณาบริเวณดอยคำเป็นที่ตั้งของพระธาตุโบราณที่สำคัญถึง 3 องค์ด้วยกันเนินเขาด้านล่างเป็นที่ตั้งของพระธาตุผาเงา ที่สร้างไว้บนก้อนหินใหญ่ ถัดจากนั้นสูงขึ้นไปจะเป็นซากเจดีย์สูงประมาณ 5 เมตร ชาวบ้านเรียกว่าพระธาตุจอมจัน ส่วนที่สูงสุดของเนินเป็นที่ตั้งของซากเจดีย์อีกองค์สูงประมาณ 5 เมตรเช่นกัน ชาวบ้านเรียกว่าพระธาตุเจ็ดยอด ต่อมาทางวัดได้สร้างพระพุทธนิมิตเจดีย์ครอบองค์พระธาตุเจดีย์ไว้ แต่ก็ยังสามารถมองเห็นซากของเจดีย์เจ็ดยอดได้จากภายในพระเจดีย์องค์ใหม่ ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่าพระเจดีย์ทั้งสามองค์นี้ กษัตริย์องค์แรกของเวียงเปิกสา คือ “ขุนลัง” เป็นผู้สร้างเจดีย์ทั้งสามองค์นี้ไว้เมื่อ 1,500 ปีล่วงมาแล้ว

ชื่อของวัดนี้มาจากชื่อของวัดพระธาตุผาเงาที่ตั้งอยู่บนยอดก้อนหินใหญ่ คำว่า “ผาเงา” ก็คือเงาของก้อนผา หินก้อนนี้มีลักษณะสูงใหญ่คล้ายรูปทรงเจดีย์และทำร่มเงาได้ดีมาก ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า “พระธาตุผาเงา” ความจริงก่อนที่ย้ายวัดมาอยู่ที่นี่ก็มีชื่อว่า วัดสบคำ ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขง ฝั่งน้ำได้พังทลายลงทำให้บริเวณของวัดพัดพังลงใต้น้ำโขงเกือบหมดวัด คณะศรัทธาจึงได้ย้ายวัดไปอยู่ที่ใหม่บนเนินเขาซึ่งไม่ไกลจากวัดเดิมตอนแรกสันนิษฐานไว้ว่าบริเวณเนินเขาเล็ก ๆ ลูกนี้ที่กำลังแผ้วถางอยู่นี้จะต้องเป็นวัดเก่า เพราะได้พบเห็นซากโบราณสถาน โบราณวัตถุกลาดเกลื่อนไปทั่วบริเวณ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2519 ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันแผ้วถางป่าแต่เดิมที่แห่งนี้เคยเป็นถ้ำ เรียกว่าถ้ำผาเงา ซึ่งปากถ้ำถูกปิดไว้นานทำให้บริเวณแห่งนี้เป็นป่ารกชัฏเต็มไปด้วยซากโบราณวัตถุกระจัดกระจายเต็มไปหมด มีชิ้นส่วนใหญ่อยู่ชิ้นหนึ่งเป็นพระพุทธรูปครึ่งองค์ช่วงล่างหน้าตักกว้าง 4 วา เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปประธานในวิหาร มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระพุทธรูปนี้ว่า วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519 นายจันมา พรมมา หนึ่งในคณะศรัทธาทั้งหมดที่เริ่มบุกเบิกแผ้วถางป่า ได้ฝันในเวลากลางคืนว่ามีพระภิกษุรูปหนึ่งรูปร่างสูงดำมาบอกว่า ก่อนที่จะยกชิ้นส่วนองค์พระประธานที่เหลือครึ่งองค์ออกนั้น ให้ไปนิมนต์พระสงฆ์มา 8 รูปทำพิธีสวดถอนเสียก่อน

วันที่ 17 มีนาคม 2519 เมื่อคณะศรัทธาได้ทำการปรับปรุงพื้นที่เรียบร้อยแล้วทุกคนต่างเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันนั่นคือ เมื่อพบว่าใต้ตอไม้หน้าฐานพระประธานมีอิฐโบราณก่อเรียงไว้ เมื่อได้ทำการยกก้อนอิฐออกจึงได้พบพระพุทธรูปมีลักษณะสวยงามมาก ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดีได้วิเคาระห์ว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีอายุระหว่าง 700 – 1,300 ปี คณะทั้งหมดจึงได้พร้อมกันตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า หลวงพ่อผาเงา และได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็นวัดผาเงา
เมื่อค้นพบพระพุทธรูปหลวงพ่อผาเงาแล้ว วัดเก่าแห่งนี้ก็ถูกบูรณะและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง การก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ก็ดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เช่น ซุ้มประตูวัด,กำแพงด้านหน้า,กุฏิสงฆ์,ศาลาการเปรียญและองค์พระธาตุผาเงาและสร้างวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุผาเงาดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

SANYO DIGITAL CAMERA

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น