สกู๊ปหน้า 1…ดื่มแอลกอฮอล์ดีและร้ายอย่างไร?

1111 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมายถึงเครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ผสมอยู่ ผลิตจากวัตถุดิบที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลหมัก และเติมยีสต์ลงไปเพื่อให้ยีสต์กินน้ำตาลในวัตถุดิบ และเปลี่ยนกลายเป็นแอลกอฮอล์ ซึ่งมีฤทธิ์ในการกดระบบประสาทส่วนกลาง ถ้าดื่มในปริมาณไม่มาก จะรู้สึกผ่อนคลาย เนื่องจากแอลกอฮอล์ไปกดจิตใต้สำนึกที่คอยควบคุมตนเองอยู่ แต่ถ้าดื่มมากขึ้นก็จะมีฤทธิ์กดสมองบริเวณอื่นๆ ทำให้เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด และอาจทำให้หมดสติได้ในที่สุด

ซึ่งวัดระดับแอลกอฮอล์ที่ส่งผลกับร่างกายได้หลายอาการ เช่น ในระดับที่สูงเกินกว่า 0.05% ในกระแสเลือด จะทำให้สูญเสียการควบคุมระบบเคลื่อนไหว ถ้าดื่มในระดับ 0.2% จะสูญเสียเรื่องอารมณ์ เช่นส่งเสียงตะโกน โหวกเหวก ถ้าดื่มในระดับ 0.3% จากการดื่มเหล้าอย่างรวดเร็วสัก 1 ขวดแบน ก็อาจหมดสติได้ และถ้าดื่มในระดับ 0.3 – 0.5% อาจทำให้ถึงตายได้ เพราะไปกดระบบการหายใจ ซึ่งคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ แล้วมีอาการหน้าแดงง่าย มีสาเหตุจากสารอะเซตาดีไฮด์ และพรอสตาไซคลิน ทำให้เกิดเส้นเลือดขยาย และบางคนขาดสารเอนไซม์ ซึ่งสลายสารอะเซตาดีไฮด์ ทำให้มีการคั่งของสารอะเซตาดีไฮด์สูงในตับ และในเลือด โดยเฉพาะคนจีนกว่า 50% (หรืออาจรวมในไทยที่มีเชื้อจีน) ไม่มีสารเอ็นไซม์นี้ ดังนั้นจึงมีโอกาสจะเป็นโรคตับแข็งง่ายกว่าชาติอื่น

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 1.เบียร์ มีแอลกอฮอล์ในระดับ 3-8% 2.ไวน์มีตั้งแต่ 8-12% และ 3.เหล้า มีแอลกอฮอล์ 20-50% ขึ้นอยู่กับว่าเป็นวิสกี้ ยิน หรือวอดก้า ส่วนเหล้าของไทย เหล้าโรง เหล้าเถื่อน อาจจะถึง 45% หรือสูงกว่านั้น

สำหรับเครื่องดื่มที่มีประวัติยาวนานที่สุดคือ ไวน์ ในสมัยโบราณจะใช้เพื่อการรักษา ซึ่งไวน์ที่มีความเข้มข้นถึง 10% จะใช้รักษาแผลติดเชื้อ และในอดีตที่โรคอหิวาต์ระบาดในปารีส พบว่าการดื่มไวน์สามารถทำให้โรคหยุดการแพร่กระจาย (เป็นการค้นพบก่อนที่แพทย์จะรู้เรื่องโรคอหิวาต์ และไข้ไทฟอยด์) ต่อมาแพทย์จึงค้นพบว่าไวน์สามารถฆ่าเชื้ออหิวาต์ได้ในเวลา 15 นาที และฆ่าเชื้อไทฟอยด์ใน 24 ชั่วโมง ดังนั้น จึงเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งในสมัยนั้นว่า ดื่มแอลกอฮอล์ปลอดภัยแน่ และไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ 10% จะฆ่าเชื้อดีกว่าแอลกอฮอล์ 90% เสียอีก เพราะในไวน์แดงมีสารแอนโธไซยานิน และมัลโวไซด์ และในไวน์ขาวมีสารอีโนไซด์

ข้อดีข้อเสียของการดื่มเหล้า สามารถลดอัตราการตาย โดยถ้าเพียงดื่มวันละ 1 แก้ว เช่น โรคหัวใจ ถ้าดื่มวันละ 1 แก้ว (ผสมแล้ว) ลดการเกิดโรคหัวใจอุดตัน 30- 50% ถ้าดื่มมากกว่านั้น กลับเพิ่มการเป็นโรคหัวใจ ซึ่งจะอธิบายได้ว่า อัตราส่วนของไขมันชนิดต่ำต่อไขมันชนิดสูง ถ้าสูงเกิดโรคหัวใจได้ แต่เหล้าไปเพิ่มไขมันชนิดสูง และลดไขมันชนิดต่ำ แอลกอฮอล์ยังช่วยลดการอุดตันของเส้นเลือด และเพิ่มการทำลายไฟบริน จากหลักฐานของฝรั่งเศส และประเทศแถวเมดิเตอร์เรเนียน พบว่าคนที่ดื่มไวน์ เป็นโรคหัวใจน้อยกว่าประเทศอื่น เพราะในไวน์ นอกจากมีแอลกอฮอล์แล้ว ยังมีสารแอนติออกซิแคนท์ และฟลาโวนอยด์

ภาวะอัมพาต และอัมพฤกษ์ (อัมพาตชั่วคราว) ในอังกฤษพบว่าถ้าดื่ม 2 – 5 แก้ว/วัน ในผู้ชาย หรือ 2 – 4 แก้วในผู้หญิง จะมีอัตราในการเป็นอัมพฤกษ์น้อยกว่าคนที่ไม่ดื่ม และคนที่ดื่มสม่ำเสมอดีกว่าคนดื่มกระปริดกระปรอย แต่การวิจัยกลับพบว่า ถ้าดื่ม 2 แก้วต่อวัน เพิ่มการเกิดอัมพาตจากเส้นเลือดแตกมากกว่า และถ้าดื่ม 3 แก้วขึ้นไป อาจทำให้เกิดมีโอกาสเกิดอัมพาตถึง 2 – 3 เท่า

ก้อนหินในถุงน้ำดี ถ้าดื่มวันละ 5 แก้วในผู้ชาย และดื่ม 2 แก้วในหญิง สามารถป้องกันการเกิดก้อนหินในถุงน้ำดีได้ ส่วนข้อเสียทำให้เป็นโรคตับแข็งได้ทุกชนิด รวมทั้งมะเร็งตับ ขึ้นอยู่กับเวลา และจำนวนที่ดื่ม ถ้าเป็นแล้วดื่มต่อไป โรคจะแย่ลง และมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ 5 – 10%

ระบบจิตประสาท ในกลุ่มคนวัยรุ่นจะทำให้เกิดอันตรายได้สูง อาทิ การขับขี่รถยนต์ การก่ออาชญากรรม เป็นเด็กถูกทอดทิ้ง และมีปัญหา ในประเทศสหรัฐช่วงปี 1996 มีอุบัติเหตุสูงถึง 40% จากผู้ขับขี่ที่ดื่มสุรา และผู้ดื่มมากกว่า 5 แก้ว/วัน อาจเป็นโรคจิตซึมเศร้า และมีการฆ่าตัวตาย ในโรงพยาบาลพบว่า การรักษาผู้ป่วยโรคพิษสุราของคนกลุ่มนี้ เขามีโอกาสฆ่าตัวตายสูงถึง 75 เท่าของคนปกติ

“การดื่มสุรา ผู้ชายควรดื่มไม่เกิน 2 แก้ว (ผสมแล้ว) ต่อวัน ผู้หญิงดื่มประมาณ 1 แก้ว/วัน คนสูงอายุให้ดื่มครึ่งแก้ว/วัน เพียงเท่านั้น ก็ถือว่ามากแล้ว ถ้าดื่มเกินกว่านี้ เป็นอันตรายแน่นอน”

จริงอยู่ที่สังคมยอมรับการดื่มแอลกอฮอล์ และสมควรแล้วที่ประเทศไทยนโยบายการตรวจจับนักขับรถที่ดื่มสุรา มิฉะนั้นแล้ว แพทย์ผู้มีหน้าที่รักษาพยาบาลอาจต้องทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะในยามค่ำคืน ทั้งหมดก็เพื่อลดอุบัติเหตุและการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

2222

ร่วมแสดงความคิดเห็น