“ลอยกะโหล้งไฟ พ่อบุญตัน” หนึ่งเดียวในจังหวัดลำพูน

00006

เมื่อถึงเดือนยี่ อันเป็นช่วงท้ายฝนต้นหนาวท้องฟ้าสดใสและอากาศสดชื่นเย็นสบาย เป็นระยะเวลาที่ชาวบ้านจะเริ่มทำบุญและมีงานสนุกสนานรื่นเริงอีกครั้ง หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับงานในท้องไร่ท้องนาก่อนหน้านั้น 2-3 วันก่อนวันยี่เป็ง ตามวัดวาอารามและครัวเรือนของชาวล้านนามีการทำซุ้มประตูป่า ประดับตกแต่งหน้าบ้านหน้าประตูวัดหรือหน้าวิหารด้วยกล้วย อ้อย ก้านมะพร้าว โคมไฟและดอกไม้นานาชนิด

พิธีลอยกระทงนั้นทางภาคเหนือเรียกว่า “พิธีลอยโขมด” สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากพวกมอญในสมัยหริภุญชัย การลอยกระทงถือเป็นการระลึกนึกถึงหมู่ญาติที่อาศัยอยู่ในเมืองหงสาวดี ต่อมาภายหลังจึงได้เปลี่ยนมาเป็นการบูชาพระพุทธบาท นอกเหนือจากการลอยกระทงแล้วยังมีประเพณีการจุดประทีปโคมไฟเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ตามความเชื่อของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ

ในสมัยโบราณการลอยกระทงนิยมกระทำกันอย่างแพร่หลายในสังคมเกษตร ซึ่งผู้คนที่กระทำพิธีนี้ก็เพื่อบูชาขอบคุณพระแม่คงคาที่ได้ประทานน้ำมาให้ใช้ในการเพาะปลูก จนต่อมาพิธีลอยกระทงได้รับการปรับเปลี่ยนให้ผสมผสานกับแนวคิดทางพุทธศาสนา โดยพุทธศาสนิกถือว่าการทำพิธีลอยกระทงนั้นเป็นการบูชาพระพุทธบาทที่ตั้งอยู่ในสายน้ำนัมทานที นอกเหนือจากความคิดดังกล่าวแล้ว การลอยกระทงยังมีคติความเชื่อที่แตกต่างกันไปอีกหลายประการเช่นกัน บางแห่งถือว่าเป็นการบูชาพญานาค บูชาพระอุปคุต บูชาพระลักษมีเทวี บูชาพระเขี้ยวแก้ว รวมทั้งเชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ปล่อยเสนียดจัญไรให้ไหลไปกับสายน้ำ

นอกจากนั้นยังมีความเชื่ออื่น ๆ อีก บ้างก็ว่าการลอยกระทงเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ เรียกว่า “ประเพณีจองเปรียง” ทำขึ้นเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามองค์ คือพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม บ้างก็ว่าเป็นการขอขมาลงโทษต่อแม่น้ำที่เคยทำให้แม่น้ำสกปรกมาตลอดปี

ชาวล้านนาจะลอยกระทงเล็กกันในวันขึ้น 14 – 15 ค่ำ คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนเล่าว่า กระทงที่ใช้ลอยแต่เดิมนั้นไม่ได้ใช้ใบตองหรือกระดาษที่ทำเป็นรูปดอกบัวเหมือนปัจจุบัน แต่จะใช้กากมะพร้าวที่มีลักษณะโค้งเหมือนเรือทำเป็นกระทง แล้วเอากระดาษแก้วมาตัดประดับตกแต่งให้เป็นรูปนก นำผางประทีปและดอกไม้มาวางไว้เท่านั้น แต่ที่ชุมชนบ้านช่างฆ้อง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีการนำกะลามะพร้าวมาลอยน้ำ ซึ่งได้มีการลอยมาตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ.2490 โดยพ่อบุญตัน วิชัยพรหม เป็นผู้ริเริ่ม หลังจากที่ท่านได้เสียชีวิตการลอยกะโหล้งของชุมชนบ้านช่างฆ้องจึงยุติไป

พ่อประทีป ถาน้อย ชาวบ้านช่างฆ้องเล่าว่า สมัยที่ตนยังเป็นเด็ก ราว ๆ ปีพ.ศ.2496 เคยเห็นพ่อบุญตัน นำกะลามะพร้าวมาลอยในน้ำกวงช่วงเดือนยี่เป็ง ของทุกปี โดยในช่วงหัวค่ำพ่อบุญตันและลูกหลานได้นำกะลามะพร้าวกว่า 1,000 ใบมาลอยที่ท่าน้ำกวงซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านของท่าน พ่อประทีปเล่าอีกว่าเหตุที่พ่อบุญตันนำกะลามะพร้าวมาลอยในช่วงวันลอยกระทงเนื่องจากว่า ท่านมีอาชีพเป็นพ่อค้าขายขนมถาด มีการนำมะพร้าวมาใช้ในการทำขนมส่วนกะลาที่เหลือท่านได้เก็บสะสมไว้เป็นแรมปี เพื่อนำมาลอยในวันลอยกระทงนั่นเอง

พ่อบุญตัน วิชัยพรหม เป็นชาวบ้านช่างฆ้องโดยกำเนิด ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า พ่อบุญตันเป็นพ่อค้าทำขนมถาดที่มีชื่อเสียงที่สุดของลำพูน ขนมถาดของท่านได้ชื่อว่าอร่อยและมีราคาแพง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ให้พ่อบุญตันเป็นพ่อครัวประจำคุ้มเจ้า เมื่อเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เดินทางไปต่าง ๆ อำเภอก็จะพาพ่อบุญตันไปเป็นพ่อครัวประจำด้วยทุกครั้ง

ขนมถาดของพ่อบุญตัน วิชัยพรหม จะเป็นที่ต้องการของชาวบ้านทั่วไป ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่า ชาวบ้านต่างไปซื้อขนมถาดของพ่อบุญตันเพื่อมาใส่บาตรพระ โดยไปหาซื้อขนมถาดพ่อบุญตันได้ที่ตลาดในเมืองลำพูน และบริเวณหน้าโรงหนังศรีหริภุญชัย หลังจากที่พ่อบุญตันเสียชีวิตลงลูกหลานของท่านได้สืบทอดอาชีพการทำขนมถาดต่อมาจนถึงรุ่นเหลนในปัจจุบัน

พระครูจิรวัฒนโสภณ เจ้าอาวาสวัดช่างฆ้อง เล่าว่า สมัยก่อนการทำกระทงมาลอยยังไม่มากเท่าเดี๋ยวนี้ เมื่อถึงประเพณียี่เป็ง ชาวบ้านจะพากันไปวัดเพื่อฟังเทศน์มหาชาติ หรือเรียกว่า เทศน์ธรรมหลวง แต่ละบ้านจะมีการทำซุ้มประตูตกแต่งด้วยต้นกล้วย อ้อย ส่วนกลางคืนก็จะมีการละเล่น เช่น ฉายหนังกลางแปลงและการแสดงซอพื้นเมือง

สำหรับงานประเพณียี่เป็งลำพูนปีนี้ ทางกลุ่ม Spirit of Lamphun ได้จัดงานย้อนอดีตประเพณีการลอยกะโหล้งไฟพ่อบุญตัน ครั้งที่ 9 ขึ้น ในคืนวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2560 เวลา 19.00 น.เป็นต้นไป ณ บริเวณริมน้ำแม่กวง ท่าน้ำประตูท่านาง เมืองลำพูน ในงานมีการสาธิตการทำกะโหล้ง

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น