พัฒนาเทคโนโลยีหนุนเอสเอ็มอี ข่าวต่อ…หนุนเอสเอ็มอี

ไทย จับมือ “อาลีบาบา” พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 4 ด้าน ดันเอสเอ็มอี 3 หมื่นราย ผู้เชี่ยวชาญดิจิทัล 1 พันราย พร้อมดันไปรษณีย์ไทยสู่อีคอมเมิร์ซ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวภายหลังการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือระหว่างไทยกับอาลีบาบา 4 ด้านว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีกรอบระยะเวลาดำเนินงานภายในปี 2560
ด้านแรกได้แก่ การส่งเสริมความเข้มแข็งของเอสเอ็มอีและการพัฒนาไทยแลนด์ เนชั่นแนล อีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม มุ่งเสริมสร้างความรู้ในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลให้แก่เอสเอ็มอีไทยจำนวน 3 หมื่นราย ครอบคลุมตั้งแต่ระดับฐานรากกลุ่มชุมชน และผู้ประกอบการขนาดกลางที่มีความพร้อม

ทั้งนี้ คาดหวังว่าภายใน 1 ปีจะมีเอสเอ็มอีที่ได้รับการพัฒนาทำการค้าผ่านออนไลน์ได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นราย โดยบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป ร่วมกับลาซาด้ากรุ๊ปเข้ามาช่วยอบรม

ด้านที่ 2 อาลีบาบาจะร่วมให้การสนับสนุนอบรมบุคลากรจำนวน 1 หมื่นรายเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลเทคโนโลยีและให้การอบรมแก่ดิจิทัลโปรเฟสชั่นแนลจำนวน 1 พันราย และผลักดันแอพพลิเคชั่นที่ผลิตขึ้นโดยกลุ่มนี้สู่ตลาดจีนผ่านอาลีบาบา รวมถึงส่งเสริมเจ้าหน้าที่รัฐให้ได้รับการฝึกอบรมเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า และจะอบรมเทรนเนอร์ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยเอสเอ็มอีขายของในออนไลน์อีก 2 พันราย

ด้านที่ 3 การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และซัพพลายเชนในประเทศไทย โดยอาลีบาบาและลาซาด้าจะให้คำแนะนำกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการขยายระบบเตรียมการฝากส่งสินค้าในประเทศผ่านแอพพลิเคชั่นฟอร์มโพสต์ให้ใช้งานได้ครอบคลุมทุกจังหวัดและศึกษาระบบการจัดการคลังสินค้าและการให้บริการสำหรับธุรกรรมอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศของกลุ่มธุรกิจในเครืออาลีบาบาเพื่อนำมาปรับใช้กับการวางระบบงานคลังสินค้าทัณฑ์บนของไปรษณีย์ไทย
ด้านที่ 4 การดึงอาลีบาบากรุ๊ปมาพิจารณาโอกาสการร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) พร้อมทั้งพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านดิจิทัลของอาเซียน

“รัฐบาลได้พยายามพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนโดยการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีไปสู่บิซิเนสโมเดลใหม่”

นายสมคิด กล่าวว่า ความร่วมมือกับอาลีบาบาครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพราะอาลีบาบาเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซ แต่เป็นเพราะมีความสามารถในการสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง ซึ่งหากอาลีบาบาสนใจจะเข้ามาลงทุนในไทยก็ควรเข้าไปลงทุนในพื้นที่อีอีซีที่มีความพร้อมสูงและสอดคล้องกับนโยบายวันเบลท์วันโรดของรัฐบาลจีน

“เป้าหมายของอาลีบาบาคือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปในประเทศที่มีความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรให้เท่าทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของไทยซึ่งเป็นการเลือกพาทเนอร์ที่ถูกคน”

นายสมคิด กล่าวว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย รวมทั้งจะตั้งสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง แต่ยังจะเข้าไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านให้พัฒนาไปด้วยกัน ความร่วมมือในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน แต่เป็นจุดเริ่มต้นเชิงหุ้นส่วนระหว่างไทยกับจีนอย่างแท้จริง

จากนี้ไปได้มอบหมายให้นายอุตตม สาวนายน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอาลีบาบาเพื่อจัดตั้งสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ขึ้น คาดว่าจะเกิดได้ในปีหน้าอย่างแน่นอน โดยตั้งเป้าหมายให้สถาบันแห่งใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของไทย โดยเฉพาะการยกระดับชุมชนให้นำสินค้าที่มีในพื้นที่ออกมาค้าขายเชื่อมต่อกับตลาดโลกได้และยังช่วยสนับสนุนท่องเที่ยวในชุมชนให้พร้อมด้านระบบเทคโนโลยีจูงใจให้คนมาท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นายแจ๊ค หม่า ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ในขั้นแรก อาลีบาบาจะลงทุนเรื่องเทคโนโลยีก่อน โดยเฉพาะการจ่ายเงินผ่านมือถือแบบที่เข้าไปร่วมมือกับอินเดีย ต่อจากนั้นจะลงทุนด้านพัฒนาบุคลากรดึงคนหนุ่มสาวที่มีความรู้ด้านอินเทอร์เน็ต ซึ่งคนเหล่านี้จะพัฒนาไปสู่การมีเทคโนโลยีของตัวเองซึ่งจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งหากได้พาร์ทเนอร์ที่ดี ซึ่งการหารือกับนายสมคิดได้ย้ำว่ารัฐบาลไทยจะสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างไทย-จีน

“สิ่งที่ต้องการคือความเชื่อมั่นความเชื่อใจของทั้ง 2 ฝ่าย โดยเราตั้งใจที่จะทำอีฮับ หรือศูนย์กลางของอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ให้บริการกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีและเชื่อมโยงสู่อาเซียน”

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงกับบริษัทอาลีบาบากรุ๊ป เพื่อร่วมมือกันพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการค้า

โดยกระทรวงพาณิชย์สนใจจะนำแนวทางการพัฒนาระบบการค้าของอาลีบาบามาต่อยอดและปรับใช้กับการค้าขายผลไม้ของไทยบริเวณภาคตะวันออก รวมไปถึงข้าวโพด เพราะจากที่ได้มาดูระบบการทำงานต่างๆ ของอาลีบาบาแล้ว เห็นว่าระบบดังกล่าวสามารถระบุรายละเอียดของสินค้าได้ครบหมดทุกขั้นตอน ตั้งแต่ปริมาณผลผลิต ไปจนถึงความต้องการของตลาด ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยบริการจัดการสินค้าได้ดียิ่งขึ้น

“ที่เห็นว่าสนใจจะทำเลยคือข้าวโพด ไทยสามารถทำได้ด้วยการนำระบบของอาลีบาบามาปรับใช้ รวมไปถึงผลไม้ที่จันทบุรีก็พอทำได้เช่นกัน โดยจะให้อาลีบาบามาพัฒนาบุคลากร ซึ่งทางฝั่งพาณิชย์เองก็มอบหมายต่อไปยังพาณิชย์จังหวัดช่วยอบรมคนควบคู่กันไป ขณะเดียวกัน ด้านระบบต่างๆ ทางอาลีบาบาก็พร้อมมาแนะนำระบบให้”

ส่วนฝ่ายไทยจะจัดทำเป็นแอพพลิเคชั่นไทยเพย์มานำร่อง โดยรวมหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกระทรวงการคลังซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ หรือกลุ่มสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้นและยังช่วยแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดหรือผลิตออกมาแล้วไม่มีที่มาวางขายได้

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า แนวคิดของแจ็ค หม่า ให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดเล็กมากกว่าขนาดใหญ่ ต้องการให้สังคมได้ประโยชน์จากดาต้าเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ลดขั้นตอนผ่านพ่อค้าคนกลางและมีระบบขนส่งที่รวดเร็ว โดยการส่งสินค้าในจีนจะได้รับภายใน 24 ชม. ต่างประเทศภายใน 76 ชม.

สำหรับในประเทศจีน อาลีบาบาได้เข้าไปสร้างความสามารถให้ผู้ให้บริการอื่นๆ เช่นบริษัทด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งการกระจายความเจริญไปสู่ชนบท โดยเข้าไปช่วยเหลือ 2.2 หมื่นหมู่บ้านให้เข้าถึงอีคอมเมิร์ซ ทำให้ชาวบ้านที่ยากจนขายสินค้าของตัวเองได้ ช่วยแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงตลาดและลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง ชาวบ้านขายเองได้

“แนวคิดดังกล่าวเหมาะสมกับชนบทและสินค้าโอท็อปของไทยให้เข้าถึงตลาดได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ขายแค่คนในพื้นที่ แต่ถ้าเข้าถึงระบบอีคอมเมิร์ซก็สามารถขายได้ทั้วประเทศและทั่วโลก”

นอกจากนี้ ยังสามารถดึงคนหนุ่มสาวที่มีความรู้ให้ทำงานในท้องถิ่นได้ ไม่ต้องเข้ามาที่กรุงเทพฯ สร้างความเจริญให้ท้องถิ่นแทนการเข้ามาหาความเจริญในเมือง โดยอาลีบาบาจะร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงดิจิทัล ลงไปคัดเลือกหมู่บ้านเพื่อเปิดศูนย์การเรียนรู้ มีเจ้าหน้าที่อบรมครบวงจร ซึ่งกระทรวงดิจิทัลมีศูนย์กระจายทั่วประเทศ 2 พันแห่งที่ต่อยอดได้

ด้วยระบบนี้จะทำโครงการสตาร์ทอัพคืนถิ่น โดยนำจุดแข็งของท้องถิ่นมาผลิตเป็นสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ๆ ไปทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีความเจริญ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจะไปจัดกิจกรรมให้ความรู้ในหัวเมืองต่างๆ เพื่อให้เกิดสตาร์ทอัพในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น