มช.ร่วมเอกชน โชว์ผลงานวิจัย สารสกัดดอกคำปู้จู้ หรือดาวเรือง สู่เวชสำอางระดับนาโน

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับภาคเอกชน โชว์ผลงานการวิจัยจากสารสกัดของดอกคำปู้จู้ หรือดอกดาวเรือง ต่อยอดผลิตเวชสำอาง ระดับนาโนเทคโนโลยี ผลิตเครื่องสำอางลดริ้วรอยคุณภาพสูง ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรม จากงานวิจัยในรั้ว มหาวิทยาลัยฯ สู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม พร้อมต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 ม.ค.60 ที่โรงแรมรติล้านนา ริเวอร์ไซด์ สปา รีสอร์ท เชียงใหม่ ศ.เกียรติคุณ นพ.อาวุธ ศรีศุกรี อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รักษาการแทนอธิการบดีฯพร้อมด้วย นายปิยะฉัตร ใคร้วานิช เบอร์ทัน ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติภาคเหนือ รศ.ดร.ภก.วิรัตน์ นิวัฒนนนท์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยฯ รศ.ดร.ภก.จักรพันธ์ ศิริธัญญาลักษณ์ อดีตคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ฯ ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยฯ รศ.ภญ.พิมพร ลีลาพรพิสิฐ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ฯ

รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ และ นายรังสรรค์ ตรงฉาก ประธานกรรมการบริษัท มาย่า แอนด์โค จำกัด ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าวความสำเร็จในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสารสกัดนาโนเซรั่ม จากดอกดาวเรือง หลังจากได้ดำเนินการศึกษาค้นคว้า และดำเนินการพัฒนางานวิจัยเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2552-2556 รวมทั้งทดสอบทางคลินิคอย่างครบวงจร ทั้งการทดลองใช้จริงจากอาสาสมัคร และการควบคุมคุณภาพการผลิตในห้องปฏิบัติการจนมีความพร้อม ที่จะต่อยอดถ่ายทอดเทคโนโลยีออกสู่เชิงพาณิชย์

โดยทาง ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ กล่าวว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีออกสู่เชิงพาณิชย์นั้น นับเป็นพันธกิจหนึ่งที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ ในการให้บริการของ STeP เพราะการนำผลงานการวิจัยซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่มีอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยออกสู่เชิงพาณิชย์ (ภาคเอกชน/ภาคอุตสาหกรรม) ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยต้องคัดสรรบริษัทที่มีความพร้อม ดำเนินการจัดประชุม การเจรจาหลายครั้งจนได้รับความเห็นชอบจากทุกๆ ฝ่าย

ซึ่งสารสกัดนาโนเซรั่มดอกดาวเรือง เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่จะช่วยยกระดับผลงานวิจัย สู่การเพิ่มมูลค่าในภาคอุต สาหกรรม และสิ่งสำคัญที่สุดคือผลิตภัณฑ์ที่ถูกแปรรูปมาจากผลผลิต ด้านการเกษตรของประเทศ ซึ่งเมื่อนำไปสู่การผลิตและการจำหน่ายต้นนำก็จะได้รับประโยชน์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ผลงานดังกล่าวกำลังเข้าสู่ตลาด ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วจะทำให้ฝั่งต้นน้ำ โดยเฉพาะผู้ปลูกดอกดาว เรื่องที่ในปัจจุบันอาจจะทำการเพาะปลูก เพื่อตอบสนองเชิงอุตสาหกรรมแค่บางประเภท แต่ในอนาคตเมื่อบริษัทเติบโต ก็จะส่งผลทำให้ต้นนำนั้นเติบโตตามไปด้วย เช่น การปลูกจากเดิมที่ปลูกตามปกติ ก็อาจจะมีการปลูกโดยใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น คุณภาพการปลูกรวมไปถึงตัวเกษตรกร ก็จะได้รับการส่งเสริมพัฒนาอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทางด้าน รศ.ภญ.พิมพร ลีลาพรพิสิฐ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หัวหน้าคณะวิจัย) เปิดเผยว่า สาเหตุที่เลือกใช้ดอกดาวเรืองมาทำการวิจัยจนกระทั่งประสบผลสำเร็จนั้น ก็สืบเนื่องมาจากดอกดาวเรืองนั้นเป็นพืชที่ปลูกง่ายและสามารถต่อยอดไปสู่ระดับอุตสาหกรรมได้ และมีสีสันสวยงาม รวมถึงจากผลการสำรวจพบว่าในต่างประเทศ ก็ใช้ดอกไม้ชนิดนี้ในการทำวิจัย แต่เป็นดอกดาวเรืองในอีกสายพันธ์ุ โดยตัวสารสกัดที่อยู่ในดอกดาวเรืองนั้นจะมีประโยชน์ และเมื่อมีการทำให้เป็นสิทธิบัตร ในการทำให้เป็นระดับนาโน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเห็นผลในผิวหนังได้อย่างรวดเร็ว

ขณะที่ทางด้าน นายรังสรรค์ ตรงฉาก ประธานกรรมการบริษัท มาย่า แอนด์โค จำกัด เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทางบริษัทได้เลือกผลงานวิจัยนี้ เนื่องจากทางบริษัทฯได้เล็งเห็นถึงผลงานวิจัยที่สามารถตอบสนนอง และสร้างทางเลือกใหม่ในผลิตภัณฑ์เวชสำอางให้แก่ผู้บริโภค จึงเลือกโดยสารสกัดนาโนเซรั่มดอกดาวเรือง ซึ่งเป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีสารการชะลอริ้วรอย อีกทั้งผ่านการวิจัยและมีผลการทดสอบยืนยัน ยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และบริษัทฯ จะนำผลงานวิจัยต่อยอดไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดการนำองค์ความรู้ที่คณะนักวิจัยคิดค้นขึ้น ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในวงกว้างต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น