ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร วันที่สอง มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร               สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ประจำปีการศึกษา 2557 – 2558 ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวันที่สอง

ในการนี้ได้ พระราชทานปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา แก่ นายเติม แย้มเสมอ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยพิษณุโลก ประธานกรรมการคัดเลือกครูสอนดี ตามโครงการของ สสค. ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนวัดมหานาม คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และประธานคณะกรรมการโรงเรียนอนุบาลพิษณุโลก เป็นต้น จากการที่เป็นผู้อุทิศตนให้กับการศึกษา และสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ในการพัฒนาระบบการศึกษาจนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ จึงมีผู้ให้ความสนใจมาศึกษาดูผลงานมากมาย อีกทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็น “ครูของครู” ที่เสียสละ อุทิศกำลังใจกำลังกายเพื่อวิชาชีพครู จนทำให้มีผลงานดีเด่น อาทิ ได้รับโล่เกียรติคุณ “ผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี”โล่เกียรติคุณ “หนึ่งคนดีหนึ่งหมู่บ้าน” จากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวรอ และด้วยคำว่า “ครู” เป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ฝังรากลึกอยู่ในหัวใจตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ นายเติม แย้มเสมอ จึงยืนหยัดในความเป็นครูทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน  มาตั้งแต่อดีต โดยให้นิยามของการเรียนนอกโรงเรียนว่า “มหาวิทยาลัยชีวิต” และการศึกษาในโรงเรียนเป็น “โรงเรียนสาธิต” เป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมในโรงเรียนแล้วขยายผลออกไปอย่างกว้างขวาง มีความสนใจในภูมิปัญญา โดยยึดถือคติที่ว่า “อย่าให้ได้ชื่อว่า ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” หมั่นศึกษาค้นคว้าพัฒนาความรู้ให้กับตนเอง และพัฒนาการบริหารระบบการศึกษาอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้อนาคตของชาติมีความก้าวหน้าทัดเทียมผู้อื่น โดยพึงระลึกอยู่เสมอว่า“ศิษย์เป็นอย่างไร ให้ดูที่ครูสอนมา”

และได้พระราชทาน พระราชทานปริญญาครุศาสตร มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย แก่ นายอนุพงษ์ สิงหพันธุ์ ผู้สืบทอดศิลปะการแสดงลิเกมาตั้งแต่สมัยบิดามารดา ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าลิเกคณะวาสนาดาวเหนือ” ด้วยปณิธานที่แน่วแน่ว่าจะต้องอนุรักษ์และสืบสานให้ลิเกยังคงไม่สูญหายไป จึงมุ่งมั่นและตั้งใจศึกษาหาความรู้ในศาสตร์ของศิลปะการแสดงลิเก ไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความรู้เกี่ยวกับการร่ายรำ อิริยาบถท่าทางต่างๆ ความรู้เกี่ยวกับการร้อง การเอื้อน และการออกเสียงตามท่วงทำนองของการร้องลิเก การแต่งคำประพันธ์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเล่นลิเก อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีทักษะในการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า มีคุณธรรมจริยธรรม กระทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
จากการที่เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านศิลปะการแสดงลิเก และด้วยความที่มีอุดมการณ์ของความเป็นผู้อนุรักษ์ และสืบทอดศิลปวัฒนธรรม ในปี พ.ศ.2558 จึงได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ในศาสตร์ของ การแสดงลิเกให้กับนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และฝึกซ้อมการแสดงลิเกให้กับชมรมลิเกเพชรพิบูล จนได้รับการขนานนามให้เป็น “ปราชญ์ชาวบ้านผู้ส่งเสริม สืบสาน และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย ด้านศิลปะการแสดงลิเกประจำปี 2558” จากสำนักศิลปะวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม แม้จะสำเร็จการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ไม่มีโอกาสได้เป็นครูตามที่ตั้งใจไว้ในวัยเด็ก แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ประกอบกับมีศิลปะอยู่ในตัวเอง จึงสามารถถ่ายทอดวิชาความรู้ออกมาได้เป็นอย่างดี และสามารถอบรมสั่งสอนให้นักศึกษาเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เทียบเท่ากับคุณวุฒิในอุดมศึกษา

ได้ พระราชทานปริญญาศิลปะศาสตร มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน แก่ นายธนศักดิ์ มากมิ่ง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่สำคัญมากมาย อาทิ ที่ปรึกษาจังหวัดสุโขทัย ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และด้านการท่องเที่ยว คณะกรรมการผังเมืองระดับจังหวัด ในส่วนของผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเทศบาลประชาชนสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดสุโขทัย คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวประจำเขต พัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นผู้เสียสละอุทิศตนเพื่อสังคมส่วนรวม ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจในการพัฒนาชุมชน สังคมของชั้นรากหญ้าในท้องถิ่นเป็นระยะเวลาอันยาวนาน เช่น การพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างสมรรถนะการอ่านของนักเรียนระดับประถมศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการอ่านออกเขียนได้ของเด็กนักเรียน การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพในชุมชนให้แก่คนในชุมชน และเป็นคณะกรรมการอำนวยการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นประจำทุกปี และนอกจากนี้ยังมีผลงานและเกียรติคุณที่ได้รับจำนวนมาก อาทิ ในปี พ.ศ.2544 ได้รับโล่เกียรติคุณ “ปราชญ์สหกรณ์ของจังหวัดสุโขทัย” จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และในปี พ.ศ.2558 ได้รับโล่เกียรติคุณ “ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานดีเด่น” จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดสุโขทัย ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น