อัดงบพัฒนากลุ่มจังหวัด กระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัว

ครม.เห็นชอบจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบ 60 วงเงิน 1.9 แสนล้านบาท เน้นอัดงบพัฒนากลุ่มจังหวัด นิด้าโพลเผยผลสำรวจเอกชน มองเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 60 แค่ทรงตัว

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 1.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย

1.แผนงานบูรณาการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ 1.15 แสนล้านบาท เป็นโครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 8 หมื่นล้านบาท กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 2 หมื่นล้านบาท และงบกลางรายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ 1.5 หมื่นล้านบาท

ส่วนที่ 2.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 1 หมื่นล้านบาท 3.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 1.5 หมื่นล้านบาท ที่จะให้หมู่บ้านไปพัฒนาแห่งละ 2 แสนบาท 4.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 2.7 หมื่นล้านบาท และ 5.งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็น 2.29 หมื่นล้านบาท

“เหตุผลที่ต้องมีงบประมาณ 2560 เพิ่มเติมนั้น เพราะตั้งใจว่าจะดำเนินการพัฒนาในกลุ่มจังหวัดเพิ่มมากขึ้น และจากอดีตงบประมาณจะลงไปอยู่ที่แต่ละกระทรวงเป็นหลัก ก่อนลงไปสู่ชนบท เปลี่ยนมาเป็นรายเรื่อง ลงกลุ่มจังหวัด ซึ่งจะให้คนในท้องที่เป็นผู้ดูแลเอง” นายกอบศักดิ์กล่าว

นายกำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง (CEO Survey) กระจายทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 49 ราย ต่อทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2560 ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ 48.98% ระบุแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ทรงตัว ส่วน 34.69% มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัว โดย 70.59% ในจำนวนนี้ระบุว่าจะขยายตัว 1-5% ส่วน 5.88% ระบุว่าขยายตัว 6-10% อีก 5.88% ระบุว่าขยายตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป และ 17.65% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับผลการสำรวจครั้งนี้พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ 57.14% ระบุว่าปัจจัยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2560 คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รองลงมา 51.02% ระบุว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ 38.78% ระบุว่าเป็นภาคการท่องเที่ยว 30.61% ระบุว่าเป็นนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ขณะที่ในส่วนของภาพรวมทิศทางภาคอุตสาหกรรมปี 2560 พบว่าผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ 46.94% มองแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมจะทรงตัว รองลงมา 30.61% ระบุว่าแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมไทยจะขยายตัว

ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงยังคงมีความกังวลเรื่องปัจจัยเสี่ยงต่อการดำเนินกิจการ โดยส่วนใหญ่ 42.86% เป็นห่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รองลงมา 40.82% ห่วงเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลกจากความไม่แน่นอนของนโยบายของสหรัฐ

ร่วมแสดงความคิดเห็น