“ตูบแก้วมา” ศูนย์เรียนรู้ผ้าทอมือ อ.เสริมงาม

ผ้าทอถือเป็นงานฝีมือพื้นบ้านที่มีการผลิตกันมากว่าครึ่งหนึ่งของงานหัตถกรรมในท้องถิ่น ซึ่งทำสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลานาน กระทั่งได้กลายเป็นของวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ที่บ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น

ในช่วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมาที่โครงการ “ฝ้ายแกมไหม” ภายใต้การดูแลจากสถาบันและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าไปส่งเสริมให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ผลิตสิ่งทอยังพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้เรื่องการย้อมสีธรรมชาติของกลุ่มเครือข่ายสิ่งทอให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

โดยตลอดเวลาตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีกลุ่มทอผ้าพื้นบ้านเข้าร่วมโครงการ ฯ นี้ไปแล้วกว่า 7 ชุมชน ล่าสุด โครงการ “ฝ้ายแกมไหม” ได้เปิดศูนย์การเรียนรู้การผลิตเส้นใยครบวงจรขึ้นที่บ้านนาเดา ต.เสริมซ้าย อ.เสริมงาม จ.ลำปาง นับเป็นศูนย์การเรียนรู้ฯที่ 8

รศ.ดร.เจษฏา เกษมเศรษฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวว่า โครงการ “ฝ้ายแกมไหม” ได้พัฒนากลุ่มทอผ้าฝ้ายปั่นมือย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเดา ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้การผลิตเส้นใยครบวงจร จ.ลำปาง ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการผลิตเส้นใยธรรมชาติครบวงจร จัดทำระบบข้อมูลและสื่อในแหล่งเรียนรู้แต่ละแห่ง รวมทั้งเป็นการเพิ่มทักษะและเทคนิคการถ่ายทอดความรู้ให้กับแกนนำในแต่ละขั้นตอนการผลิตให้มีระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นศูนย์การเรียนรู้ฯแห่งนี้จะร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นและหน่วยงานในพื้นที่ที่จะหนุนเสริมให้ศูนย์การเรียนรู้ฯสามารถดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นางจันทร์คำ แก้วมา ผู้นำกลุ่มผ้าฝ้ายปั่นมือย้อมสีธรรมชาติ บ้านนาเดา กล่าวว่า กลุ่มผ้าฝ้ายทอมือบ้านนาเดาได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้นเมื่อปี 2526 ในช่วงนั้นเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อหารายได้เสริมในการเลี้ยงชีพ ซึ่งโดยลำพังการทำไร่นาไม่สามารถสร้างรายได้อย่างเพียงพอ โดยในระยะแรกการทำงานของกลุ่มไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งเมื่อปี 2536 ทางอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางได้เข้ามาสนับสนุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และลวดลายให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยมีการออกแบบลายผ้า “สร้อยดอกหมาก” “ลายดอกพริกไทย” ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม หลังจากนั้นจึงเริ่มมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนมากขึ้น จนปี 2545 ทางกลุ่มผ้าฝ้ายทอมือบ้านนาเดาได้เข้าร่วมในโครงการ “ฝ้ายแกมไหม” โดยนายธนศักดิ์ เมฆขจร เป็นผู้ประสานงานและให้คำปรึกษาในการบริหารจัดการ จนสามารถพัฒนามาเป็นศูนย์การเรียนรู้การผลิตเส้นใยครบวงจร ใช้ชื่อว่า “ตูบแก้วมา”

ตูบแก้วมา แหล่งเรียนรู้ในกระบวนการผลิตเส้นใยธรรมชาติแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่กระบวนการปลูกฝ้าย ประกอบด้วยการปลูกฝ้ายพื้นเมือง พันธุ์แก่นแป พันธุ์ขี้แมว พันธุ์น้อยและพันธุ์ตุ่น โดยมีการปลูกไว้ในบริเวณบ้านและแยกปลูกในแปลง โดยผู้สนใจสามารถเข้ามาร่วมเรียนรู้ได้อย่างง่าย ๆ ตั้งแต่รูปร่างของต้นฝ้ายแต่ละชนิด การเตรียมพื้นที่เพาะปลูก จนถึงเทคนิคการเก็บเกี่ยวผลผลิต

ศูนย์การเรียนรู้การผลิตเส้นใยครบวงจรบ้านนาเดามีจุดเด่นอยู่ที่การบริหารจัดการที่เริ่มต้นจากฐานของครอบครัวและขยายความร่วมมือไปยังสมาชิกในชุมชนใกล้เคียงจนเกิดเป็นเครือข่ายที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้เฒ่าผู้แก่ได้ใช้ภูมิปัญญาและทักษะต่าง ๆ ในการทอผ้า

กระบวนการปั่นฝ้าย เริ่มตั้งแต่การอีดฝ้าย การตีฟู การทำหางไหล การปั่นเป็นเส้นด้ายรวมถึงการม้วนเก็บเส้นด้ายที่ปั่นเสร็จแล้ว เรียกได้ว่าศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ครบวงจร ซึ่งผู้สนใจเดินทางมาชมจะทำให้ทราบถึงกระบวนการผลิตทั้งหมดตั้งแต่เริ่มปลูกฝ้ายจนสำเร็จเสร็จออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอ

ผู้สนใจเดินทางเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้การผลิตเส้นใยครบวงจร ในโครงการ “ฝ้ายแกมไหม” สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0 5389 2224, 0 5394 2476 WWW.ist.cmu.ac.th/cotton.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น