ป่าดึกดำบรรพ์ตะวันออก ที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา

หากผืนป่าที่ปกคุลมอยู่บนขุนเขานั้นเปรียบเสมือนผิวหนังของพื้นแผ่นดินแล้วไซร้ ผืนป่าแห่งเทือกดอยภูคาเมืองน่านก็เป็นเสมือนผิวเนื้อที่มากด้วยร่องรอยแห่งการทำลายล้าง เป็นรอยแผลบาดลึกยากที่จะแต่งสมานให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ ขณะที่ผืนป่าเนื้อเดิมที่เหลืออยู่ไม่มากนักยังคงความสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้อันมีค่ายิ่ง

ผืนป่าแห่งเทือกดอยภูคานี้คือตำนานของความขัดแย้งแห่งอุดมการณ์ทางการเมืองและเรื่องราวของการต่อสู้ในยุคแสวงหาประชาธิปไตย 16 ตุลาคม 2519 ที่จบลงพร้อมๆ กับการสูญเสีย เลือดเนื้อ
ของวีรชน หลงเหลือไว้เพียงรอยอดีตกับบทบันทึกหน้าใหม่ที่ถูกเขียนขึ้นด้วยรอยเท้าแห่งการมาเยือนของนักเดินทางผู้รักในธรรมชาติ

น่านเป็นเมืองแห่งขุนเขาอีกเมืองหนึ่งที่น้อยคนจะรู้จักคุ้นเคย เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองนี้ถูกโอบล้อมด้วยภูเขาเหมือนดั่งมีม่านกำแพงมากั้นทุกด้านและยังเป็นเมืองปิดที่ไม่ใช่เส้นทางผ่าน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เมืองน่านเงียบสงบ ร่มเย็น ซุกซ่อนตัวเองภายใต้วัฒนธรรมประเพณีที่ไม่เหมือนใคร และน่านดูเหมือนว่าจะเป็นเมืองแห่งขุนเขาแห่งสุดท้ายของภาคเหนือที่ยังคงความเป็นตัวของตัวเองไม่เสื่อมคลาย

ผมจำได้ว่าเคยเขียนถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในแถบจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง มามากแล้ว แต่ยังไม่เคยข้ามฟากไปเขียนแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในจังหวัดตะวันออกของภาคเหนืออย่างจังหวัดแพร่และน่านเลย

เมื่อลมหนาวแรกของปีนี้มาเยือน ผมมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน ที่นี่นอกจากจะมีความสมบูรณ์ของสภาพป่าที่สวยงามแล้ว ยังมีป่าดึกดำบรรพ์ที่นักวิชาการคะเนกันว่า น่าจะมีอายุหลายร้อยล้านปีและที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคานี้เอง ยังเป็นแหล่งที่พบต้นชมพูภูคา พรรณไม้ป่าหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ มีรายงานว่าเมื่อ 30 ปีก่อนเคยพบไม้พันธุ์นี้ในป่าบางแห่งของประเทศจีนรวมทั้งเขตชายแดนระหว่างจีนกับเวียดนาม ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการค้นพบต้นชมพูภูคามาก่อนเลย นอกจากที่ดอยภูคาแห่งนี้ที่เดียว

ด้วยภูมิประเทศของเมืองที่มีภูเขามากมายหลายสิบลูกเกาะกลุ่มร้อยรัดจากลูกหนึ่งสู่ลูกหนึ่ง ทอดตัวขนานไปกับสัณฐานของเมือง ยาวจากเหนือลงใต้ นับตั้งแต่อำเภอทุ่งช้าง เชียงกลาง ลงมายังอำเภอปัว เรื่อยไปจนถึงอำเภอบ่อเกลือ ก่อนจะทอดตัวขนานไปกับชายแดนลาว รวมเป็นพื้นที่กว้างใหญ่มหาศาล นั่นจึงทำให้ขุนเขาแดนดอยกลุ่มนี้นับเป็นผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดของเมืองน่านที่ชาวบ้านเรียกรวมกันว่า เทือกดอยภูคา

แม้วันเวลาจะผลักดันฤดูกาลหมุนเวียนเปลี่ยนผันเข้ามาครอบคลุมผืนป่าเทือกดอยภูคา แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไปกับฤดูกาลก็คงเป็นภาพของเทือกดอยต่างๆ ที่ปกคลุมด้วยสายหมอกอยู่เสมอ อันสะท้อนถึงความไพบูลย์ชุ่มชื้นของผืนป่าที่ยังเหลืออยู่ นอกจากนั้นผืนป่าแห่งนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของธารนํ้าน้อยใหญ่ที่ไหลมายังที่ราบเมืองน่านสายสำคัญ ได้แก่ แม่นํ้าน่าน เส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนเมืองนี้มาช้านาน

ด้วยเทือกดอยภูคาและกลุ่มภูเขาเหล่านี้อยู่ใกล้ชิดกับชายแดนประเทศลาว จึงเป็นเส้นทางแห่งการอพยพย้ายถิ่นของชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บนภูเขามาตั้งแต่อดีต ว่ากันว่ามีจำนวนชาวเขาที่อาศัยอยู่บนเทือกดอยภูคาแห่งนี้มากกว่า 5 หมื่นคน ทั้งชาวม้ง เย้า ลีซอ ลัวะ ถิ่น ขมุ และชาวตองเหลือง ซึ่งคุ้นเคยกับการหาเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่เลื่อนลอย พื้นที่ป่าบนเทือกดอยภูคาถูกก่นถางจนโล่งเตียนไปกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาไม่มีใครสามารถจะหยุดยั้งการถากถางทำลายได้ นอกจากนี้พื้นที่บางส่วนของป่าภูคาในอดีตยังถูกใช้เป็นสมรภูมิแห่งความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการเมืองที่เริ่มก่อตัวขึ้นในราว พ.ศ.2519 พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยึดเป็นยุทธภูมิที่สำคัญ เพราะสามารถใช้เป็นเส้นทางเดินเท้าต่อไปยังประเทศลาว กระทั่งปี พ.ศ.2528 กาลเวลาผ่าน คลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ผืนป่าแห่งเทือกดอยภูคากลับเข้าสู่ความสงบและสันติสุข เรื่องราวต่างๆ จึงเป็นเพียงรอยจารึกแห่งความทรงจำเท่านั้น

ผืนป่าดอยภูคาได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2531 ครอบคลุมพื้นที่ป่าในเขตอำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอบ่อเกลือ อำเภอท่าวังผา อำเภอแม่จริม และอำเภอสันติสุข พื้นที่กว่า 1,065,000 ไร่

พื้นที่ป่าอันกว้างใหญ่ไพศาลของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เป็นเสมือนดินแดนที่เก็บงำความงดงามของธรรมชาติซุกซ่อนไว้มากมาย ทั้งธารนํ้าตกใหญ่หลายสาย ยอดเขาสูงที่สวยงาม พันธุ์ไม้ป่าที่มีค่าหายาก และวิถีชีวิตชนกลุ่มน้อย แต่หลายพื้นที่ยังคงถูกปกปิดด้วยร่องรอยที่หลงเหลือของสงครามความขัดแย้งที่รอคอยการบุกเบิกแสวงหาอีกครั้ง

ในบรรดายอดดอยนับสิบนับร้อยยอดในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคานั้น คงไม่มียอดใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่า ยอดดอยภูคา อันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดน่านที่มีความสูงราว 1,980 เมตร จากระดับนํ้าทะเลปานกลาง ที่น้อยคนนักจะเคยเข้าไปสัมผัสยอดดอยสูงแห่งนี้ จึงมีเพียงเรื่องราวเล่าขานเป็นตำนานที่ยังไม่มีใครยืนยันได้จริง มีแต่เรื่องเล่าจากคนเก่าก่อนสืบกันมาว่า บนยอดดอยภูคามีแต่ความงามและความสมบูรณ์ มีดอกไม้ป่ามากมาย มีไม้ผลดกดื่นให้คนเดินทางในป่าได้เก็บกิน

อุทยานแห่งชาติดอยภูคาเริ่มเป็นที่รู้จักของคนภายนอกเมื่อมีการสำรวจพบพันธุ์ไม้ป่าหายากที่คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อราว 40 ปีก่อน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2532 ดร.ธวัชชัย สันติสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ป่าไม้ ได้สำรวจพบพันธุ์ไม้หายาก คือ ต้นไบร์ทชไน เดอร์ ไซเนนซีส (Bretschneidera Sinensis) และตั้งชื่อจากการค้นพบในเมืองไทยว่า “ชมพูภูคา” คือ มีดอกสีชมพูและพบที่ดอยภูคา

ต้นชมพูภูคานี้ มีรายงานการสำรวจพบครั้งสุดท้ายเมื่อราว 40 ปีก่อนที่มลฑลยูนนาน ประเทศจีน และคาดว่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว จนกระทั่งได้มีการค้นพบอีกครั้งในป่าดอยภูคาแห่งนี้ ด้วยต้นชมพูภูคาเป็นพันธุ์ไม้ที่มีการงอกขยายพันธุ์ของเมล็ดในอัตราที่ตํ่ามาก จึงง่ายต่อการสูญพันธุ์และจะต้องขึ้นอยู่ในภูมิประเทศที่มีความสูงราว 1,500 เมตรขึ้นไปและมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ชมพูภูคาจะออกดอกบานในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งหลังจากการค้นพบได้มีความพยายามที่จะเพาะเมล็ดเพื่อขยายพันธุ์ แต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ

นอกจากจะเป็นแหล่งสุดท้ายของไม้พันธุ์หายากและใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ยังเป็นแหล่งค้นพบปาล์มพันธุ์ใหม่เป็นแห่งแรก เป็นปาล์มที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลกขึ้นอยู่กระจัดกระจายบนเทือกเขาหลวงพระบางระดับบริเวณดอยภูคาจังหวัดน่านเพียงแห่งเดียว และคาดว่าจะยังหลงเหลืออยู่บ้างในป่าดิบเขาที่ยังไม่ถูกรบกวนมากในฝั่งลาวของเทือกเขาหลวงพระบางตามไหล่เขาที่ลาดชันเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบต้นเมเปิ้ล ที่มีลักษณะแตกต่างจากต้นเมเปิ้ลอื่นๆ คือ มีใบห้าแฉก ซึ่งพบที่ดอยภูคาเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

สำหรับนักเดินทางที่รักธรรมชาติต้องการจะสัมผัสความสวยงามสมบูรณ์ของผืนป่าดึกดำบรรพ์ตะวันออก สามารถใช้เส้นทางจากตัวเมืองน่าน ตามเส้นทางหมายเลข 1080 (น่าน – ปัว) ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร และจากอำเภอปัวใช้เส้นทางสายปัว – บ่อเกลือ อีกประมาณ 25 กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาระหว่างกิโลเมตรที่ 24 – 25

สามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลได้ที่ 054-731362 หรือ [email protected]

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น