เที่ยวเมืองน่าน สู่ดินแดนล้านนาตะวันออก สัมผัสลมหายใจและกลิ่นไออารยธรรมไทลื้อ

เมืองน่านแม้ว่าจะไม่ใช่เมืองใหญ่ที่รํ่ารวยด้วยความเจริญทางเทคโนโลยี เหมือนกับเมืองอื่นๆ ในภาคเหนือ ทว่าเมืองน่านเป็นเมืองเล็กที่สงบเงียบและซุกซ่อนตัวเองอยู่ในโอบล้อมของขุนเขานี่เอง จึงทำให้เมืองนี้เป็นที่ใฝ่ฝันของนักเดินทางผู้หลงใหลในธรรมชาติและกลิ่นไอของอารยธรรมไทลื้อที่ตลบอบอวนอยู่ในเมืองนี้ ว่าจะต้องหาโอกาสมาเยือนเมืองน่านให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

จะว่าไปโดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกชื่นชอบเมืองนี้เป็นพิเศษ เพราะว่าเวลาที่เดินทางมาอยู่ในเมืองน่านจะสามารถพบเห็นภูเขาป่าไม้อยู่แวดล้อมตัวเรา อีกทั้งความมีนํ้าใจและอัธยาศัยที่เป็นกันเองไม่ถือเนื้อถือตัวของผู้คนในเมืองนี้ก็เสริมส่งเกื้อกูล ให้ผู้คนจากต่างถิ่นเดินทางมาเยือนเมืองนี้อยู่เสมอๆ และในจำนวนนักเดินทางเหล่านั้นก็รวมผมอยู่ด้วย

จังหวัดน่านเป็นจังหวัดเล็กๆ จังหวัดหนึ่งของภาคเหนือที่อยู่ทางทิศตะวันออกสุด ด้วยเมืองน่านไม่ใช่เป็นเมืองผ่านเหมือนเมืองอื่นๆ จึงทำให้ไม่ค่อยมีใครเดินทางเข้าไปมากนัก ใครที่เคยเดินทางมาเยือนเมืองน่านก็คงไม่รู้สึกแปลกอะไร แต่สำหรับคนที่เพิ่งจะเคยเดินทางมาเยือนเมืองน่านเป็นครั้งแรกแล้ว ไม่ต้องอธิบายหรอกว่ามีความรู้สึกเช่นไร เป็นที่ทราบกันดีว่าเมืองน่านนั้นเป็นเมืองเก่าที่ยังคงอนุรักษ์รูปแบบของอาคารและสถาปัตยกรรมโบราณของบ้านเมืองรวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่เอาไว้อย่างเหนี่ยวแน่น จนกระทั่งหลายปีมานี้ได้มีการออกกฏไม่ให้มีการปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนในเขตเทศบาลเมืองน่านสูงเกินกว่าตึก 3 ชั้น รวมทั้งมีการรณรงค์ให้ในเขตเทศบาลเป็นเขตปลอดสถานบริการกลางคืน เพื่อต้องการจะอนุรักษ์เมืองให้เป็นเมืองแห่งมรดก

ถ้านับย้อนหลังไปเมื่อราว 600 ปีก่อน ดินแดนแห่งล้านนาตะวันออกเมืองนี้ ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับกรุงสุโขทัย มีเจ้าผู้ครองนครสืบทอดราชวงศ์ต่อกันมารวมทั้งสิ้น 59 พระองค์ น่านมีเชื่อเดิมว่า “นันทบุรี” หรือ “วรนคร” สร้างขึ้นโดยพญาภูคาในราวพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณที่ราบในเขตตำบลศิลาเพชรหรืออำเภอปัวในปัจจุบัน ในสมัยพญาการเมืองได้รับพระบรมสารีริกธาตุมาจากกรุงสุโขทัย พระองค์ทรงเลือกดอยภูเพียงแช่แห้งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมกับย้ายเมืองมาสร้างใหม่ที่บริเวณเชิงดอย และต่อมาในราวปี พ.ศ.1900 เมื่อแม่นํ้าน่านได้เปลี่ยนทิศทางไหล จึงได้ย้ายเมืองอีกครั้งมาตั้งที่บ้านห้วยไค้ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าน่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองในปัจจุบัน

ด้วยความที่เมืองน่านเป็นเมืองที่เดินทางไปมาลำบากและมีพื้นที่ติดชายแดนประเทศลาว ซึ่งมีด่านเข้าออกอยู่ที่บ้านห้วยโก๋น สามารถเดินทางต่อไปยังเมืองหลวงพระบางของลาวและสิบสองปันนาของจีนได้ ด่านดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาให้เป็นด่านเข้าออกชายแดนที่ถาวร ซึ่งจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเดินทางไปยังหลวงพระบาง ประเทศลาว สิบสองปันนาในจีนและสามารถเดินทางไปถึงเมืองเดียนเบียนฟูในเวียดนามได้ด้วย

ความมหัศจรรย์ของเมืองน่านก็คือวัฒนธรรมของไทลื้อที่อพยพเข้ามาจากสิบสองปันนาเมื่อกว่า 200 ปีก่อนจนวัฒนธรรมของไทลื้อนี้เองได้กลายเป็นจุดเด่นของจังหวัดน่านที่นักท่องเที่ยวหลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี นอกจากนี้เมืองน่านยังมีสิ่งมหัศจรรย์อีกหลายอย่างที่มีอยู่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้นก็คือ “งาช้างดำ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง “ต้นชมพูภูคา” พันธุ์ไม้ป่าหายากที่พบเพียงที่เดียวในประเทศไทย รวมถึงบ่อเกลือเมืองน่าน ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อเลยว่าบนภูเขาสูงกว่า 1,000 เมตรเหนือระดับนํ้าทะเลจะมีบ่อเกลือธรรมชาติเกิดขึ้นนับเป็นความมหัศจรรย์ที่ไม่มีที่ใดเหมือน และภาพจิตรกรรมฝาผนังระดับมาสเตอร์พีทของวัดหนองบัว อำเภอท่าวังผากับวัดภูมินทร์ ฝีมือช่างสกุลไทลื้อที่มีอายุมากกว่า 150 ปี ว่ากันว่าภาพเขียนจิตรกรรมของจังหวัดน่านสวยสดงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศหาที่ใดเหมือน

นอกจากเมืองน่านจะขึ้นชื่อในเรื่องศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศก็กำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก กิจกรรมขี่ช้างล่องแพในลำนํ้าว้าก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีผู้รักการผจญภัยเดินทางเข้าไปสัมผัสความตื่นเต้นมาแล้วมากมาย ลำนํ้าว้าเป็นลำนํ้าขนาดใหญ่ มีนํ้าใสตลอดปี มีเกาะแก่งโขดหินธรรมชาติขนาดใหญ่หลายแห่ง การล่องแพลำนํ้าว้าแบ่งเป็นหลายช่วงแล้วแต่ความยากง่าย เริ่มตั้งแต่บ้านนํ้าปุ๊ อำเภอแม่จริมไปถึงบ้านหาดไร่ อำเภอเวียงสา ด้วยป่าเขาสองข้างทางที่เขียวชอุ่ม ทัศนียภาพที่สวยงาม บางช่วงของลำนํ้าเป็นหาดทรายจึงทำให้เหมาะแก่การตั้ง แคมป์พักแรมเป็นอย่างมาก เลยลงไปทางใต้ไม่ไกลนักทะเลสาบเหนือเขื่อนสิริกิติ์ เป็นที่อยู่ของหมู่บ้านประมงปากนาย ที่นี่นอกจากจะมีอาหารอร่อยที่ปรุงจากปลาสดๆ แล้ว ยังมีบริการค้างคืนบนเรือนแพ สนนราคาก็ตกคืนละประมาณ 50 – 100 บาท

หากนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสกับบรรยากาศของล้านนาในอดีตแล้วละก็ขับรถขึ้นเหนือไปที่หมู่บ้านดอนมูล อำเภอท่าวังผา ที่หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านของชาวไทลื้อที่อพยพมาจากสิบสองปันนา ชาวบ้านเกือบทุกบ้านยังคงมีการอนุรักษ์รักษาวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวไทลื้อเอาไว้ นอกจากนี้ที่บ้านดอนมูลยังสามารถให้นักท่องเที่ยวพักค้างแรมเพื่อสัมผัสวิถีชีวิตของชาวไทลื้อในรูปแบบของ โฮมสเตย์ ได้อีกด้วย

เรื่องราวความมหัศจรรย์ของเมืองน่านและกลิ่นไออารยธรรมไทลื้อยังคงไม่จางหายไปจากอดีต ผู้คนผ่านมาแล้วผ่านไป ทิ้งไว้แค่ความทรงจำแต่วัฒนธรรมของไทลื้อที่ถูกถ่ายทอดมานับร้อยปีจะยังคงอยู่สร้างสีสันให้กับเมืองน่านอย่างไม่มีวันลบเลือน นักท่องเที่ยวท่านใดที่ต้องการจะเข้ามาสัมผัสบรรยากาศเก่าของความเป็นเมืองล้านนาตะวันออกเช่นเมืองน่าน สามารถสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวได้ที่ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน 0-5477-3047,หอการค้าจังหวัดน่าน 0-5477-4499 และชมรมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดน่าน 0-5471-0636.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น