อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มุ่งป้องกันปัญหา การบุกรุกพื้นที่ป่า อย่างเป็นระบบ

อ.ลี้ จ.ลำพูน จัดประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหา การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ในพื้นที่ ต.นาทราย  เพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินการขอคืนพื้นที่ และการบริหารจัดการพื้นที่ป่า

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ห้องประชุมที่ว่าการ อ.ลี้ จ.ลำพูน นายวิวัฒน์ จันทร์โอภาส นายอำเภอลี้ ได้ประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหา การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ในเขต ต.นาทราย  ครั้งที่ 1 / 2560 สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการจัดการพื้นที่ป่า เพื่อให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ

จ.ลำพูนได้มีการสำรวจพื้นที่ป่าในพื้นที่ป่าแม่ลี้ ต.นาทราย พบว่ามีประชาชนได้เข้าบุกรุกพื้นที่ป่าแม่ลี้ เพื่อทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และได้ทำที่อาศัยอยู่รวมระยะเวลา ทั้งหมด 17 ปี มีพื้นที่ถูกบุกรุกทำลายเป็นเนื้อที่ จำนวน 12,627 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลพ.6 ( บ้านกลาง )

จากการสำรวจพบ สาเหตุการบุกรุกหลายสาเหตุ เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากรของชนเผ่าปกาเกอะญอ ( กระเหรี่ยง ) โดยไม่มีการควบคุม , การซื้อขายพื้นที่ป่าที่บุกรุก , ราษฎรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม , จำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการดูแลพื้นที่ป่า ที่มีมากกว่าเจ้าหน้าที่ จึงทำให้การดูแลเป็นไปอย่างล่าช้า , การอพยพย้ายถิ่นฐานของราษฎรจากพื้นที่อื่น เช่น จาก อ.ท่าสองยาง จ.ตาก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และนโยบายของรัฐ เช่น ข้าวโพด , ปาล์มน้ำมัน , มันสำปะหลัง,ยางพารา เป็นต้น โดยคณะทำงานแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ กรณี ต.นาทราย ตามคำสั่ง จ.ลำ พูน ได้มีการหารือแนวทางแก้ปัญหา เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีที่ดินทำกิน

ในที่ประชุมมี ข้อสรุป 5 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ใช้เอกสารภาพถ่ายทางอากาศ หรือแผนที่ ปี พ.ศ. 2552 เป็นหลัก ในกรณีที่มีผู้บุกรุกหลังปี 2552 – 2560 ต้องออกจากพื้นที่ หากบุกรุกก่อนปี 2552 ซึ่งเป็นพื้นลุ่มน้ำชั้น 1 A และเป็นพื้นที่ลาดสูงชันเป็นภูเขา ทางคณะทำงานขอคืนพื้นที่เช่นกัน 2. กรณีที่หมู่บ้านใดมีแนวเขตหรือแผนที่ของปี 2552 ไม่มีความชัดเจน ก็จะส่งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ลงสำรวจพื้นที่และจัดพิกัดใหม่ โดยให้ประสานกับผู้นำหมู่บ้าน และองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อที่จะประสานในการออกแบบในการสำรวจพื้นที่ต่อไป

3. หลังจากดำเนินการทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว สามารถที่จะกำหนดจุดได้แล้วว่า ตรงไหนคือพื้นที่ในแผนที่ปี 2552 และ ตรวจพบว่ากรณีมีผู้บุกรุกหลัง ปี 2550 หากไม่ยอมออกจากพื้นที่ ก็จะดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาด 4. อบต.นาทราย จะให้การสนับสนุนคณะทำงาน ในการออกตรวจพื้นที่ในแต่ละครั้ง 5. หมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านในพื้นที่ต.นาทราย จะต้องจัดทำกฎข้อบังคับหมู่บ้าน ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยกำหนดมาตรการดำเนินการกับผู้บุกรุกที่อยู่ในหมู่บ้านอย่างชัดเจน .

ร่วมแสดงความคิดเห็น