ตามรอย “เจ้าแม่หล้า” ไปบ้านไร่ดง

หากจะกล่าวถึงความสำคัญของเจ้าหญิงส่องหล้าหรือ เจ้าแม่หล้า ณ เชียงใหม่นั้น ท่านเป็นธิดาของเจ้าหลวงอินทยงยศโชติ (หมวก ณ ลำพูน) เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 9 กับแม่เจ้ารถแก้ว เป็นเจ้าน้องของพลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงนครลำพูนองค์ที่ 10 และเจ้าหญิงมุกดา

เจ้าแม่หล้า เคยสมรสกับเจ้าน้อยจิตตะ หลานของเจ้าหลวงเหมพินธุ์ไพจิตร เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 8 มีธิดารวม 2 คนคือ 1.เจ้าหญิงภัทรา ซึ่งต่อมาได้สมรสกับพลตรีเจ้าราชบุตร (วงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ราชบุตรของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย เจ้าหญิงภัทราและเจ้าราชบุตรวงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่ มีธิดา 2 คนได้แก่ เจ้าหญิงพงษ์แก้ว ณ เชียงใหม่ กับเจ้าหญิงระวีพันธุ์ ณ เชียงใหม่

ต่อมาเจ้าแม่หล้า ได้สมรสอีกครั้งกับเจ้าราชสัมพันธวงศ์ (พุทธวงศ์ ณ เชียงใหม่) บุตรของเจ้าน้อยมหาวงศ์ ณ เชียงใหม่ เจ้าแม่หล้าและเจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ มีบุตรธิดารวมกัน 9 คน ได้แก่ เจ้าหญิงรวงคำ เจ้าสุรกัณทร เจ้าวรดิษฐ์ เจ้าฤทธิวงศ์ เจ้าพงศ์สว่าง เจ้าสว่างสวัสดิ์ เจ้าหญิงรวงแก้ว เจ้าหญิงริสดา และเจ้ามานุรัตน์

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2488) กลุ่มพ่อค้าชาวจีนในลำพูน ได้รวบรวมเงินเพื่อซื้อที่ดินและตัวอาคารคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์ จากบุตรธิดาในจำนวน 58,000 บาท เมื่อกลุ่มพ่อค้าชาวจีนได้ซื้อคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์แล้ว ก็ได้ใช้สถานที่นี้เป็นที่พบปะพูดคุยกันของกลุ่มพ่อค้าชาวจีนในจังหวัดลำพูน ต่อมาปี พ.ศ.2489 กลุ่มพ่อค้าชาวจีนจึงได้อาคารสถานที่คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ เปิดสอนภาษาจีน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 ใช้ชื่อว่า โรงเรียนหวุ่นเจิ้ง (เจริญและเที่ยงธรรม)

ภายหลังที่เจ้าแม่หล้า ณ เชียงใหม่ ได้ขายคุ้มราชสัมพันธวงศ์แล้ว ท่านพร้อมด้วยลูกหลานจึงได้อพยพหนีภัยสงครามลงไปสร้างบ้านเรือนแห่งใหม่ที่บริเวณบ้านไร่ดง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ซึ่งมีที่ดินมรดกเป็นไร่นากว่า 700 ไร่ คุณยายเทียมตา ณ เชียงใหม่ อายุ 85 ปีซึ่งเป็นภรรยาของเจ้าพงษ์สว่าง ณ เชียงใหม่ บุตรของเจ้าแม่หล้า เล่าให้ฟังว่า เจ้าแม่หล้าย้ายมาอยู่บ้านไร่ดงพร้อมด้วยลูกหลาน ท่านอพยพหนีสงครามโลกครั้งที่ 2 ล่องเรือลงมาตามลำน้ำกวงมาสร้างบ้านอยู่ที่บ้านไร่ดง ในพื้นที่ของท่านเอง หลังจากนั้นก็มีชาวบ้านได้เข้ามาขออาศัยอยู่ในที่ดินของท่าน โดยท่านได้ให้ชาวบ้านช่วยแผ้วผางที่ดินซึ่งสมัยนั้นเป็นสันนามีเนื้อที่ 400 ไร่ จะแบ่งครึ่งให้กับชาวบ้านที่ช่วยแผ้วผาง เช่น ใครที่แผ้วถางได้ 10 ไร่ เจ้าแม่หล้าก็จะแบ่งให้ 5 ไร่ไว้เป็นที่ดินทำกิน ส่วนคนไหนไม่ต้องการที่ดินก็จะให้เป็นเงิน โดย 1 ไร่ต่อเงิน 1 แถบ

คุณยายเทียมตา ยังเล่าอีกว่า สมัยนั้นจะมีชาวบ้านเดินทางมาจากเมืองเชียงแสน เมืองฝาง เมืองเถิน มาช่วยแผ้วถางที่ดินท่านก็จะแบ่งให้ทุกคน นอกจากที่เจ้าแม่หล้าจะมีที่ดินสันนากว่า 400 ไร่แล้ว ท่านยังมีที่นาในบริเวณทุ่งนาหลวงป่าซางอีก 300 ไร่ โดยแบ่งให้ชาวบ้านเช่าทำนา แล้วแบ่งเอาผลผลิตครึ่งหนึ่ง

ทุ่งนาเจ้าบริเวณบ้านไร่ดง จะมีการทำนาทุกปี โดยผันน้ำจากฝายหนองสะลีกเข้าไปยังไร่นา ฝายหนองสะลีกแห่งนี้สร้างขึ้นโดยเจ้าราชสัมพันธวงศ์ เกณฑ์ชาวบ้านในระแรกใกล้เคียงมาช่วยกันสร้างฝาย สมัยโบราณการสร้างฝายขนาดใหญ่กลางแม่น้ำมีความยากลำบากมาก เจ้าราชสัมพันธวงศ์ได้ให้ชาวบ้านช่วยกันทำ “จะเข้” คือการนำเอาฟางข้าวมามัดหัวท้าย สันนิษฐานว่ามีสัญลักษณ์คล้ายจระเข้ ชาวบ้านเรียกว่า “จะเข้” ให้ชาวบ้านช่วยกันทำมาไร่ละ 3 ตัว คนไหนทำนา 5 ไร่ก็ให้ทำมา 15 ตัว

การสร้างฝายหนองสะลีก จะทำหลักกลางแม่น้ำแล้วให้คนดำลงไปนำจะเข้ไปขวางน้ำจากนั้นจึงนำกระสอบทรายลงไปทับขึ้นมาทีละชั้น จนขวางเต็มแม่น้ำจากนั้นจึงขุดทางน้ำเพื่อเข้าไปยังไร่นา คุณยายเทียมตา เล่าว่า ทุก ๆ ปีชาวบ้านไร่ดงจะมีการเลี้ยงผีฝาย ผีนา โดยจัดทำเป็นราชวัตรแล้วมีแก่นา แก่ลามทำพิธีบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางเลี้ยงไก่ สุรา ยาสูบ

บ้านไร่ดง เจริญรุ่งเรืองมากขึ้นตามลำดับ มีการสร้างบ้านเรือนขึ้นหลายหลัง มีการค้าจนเกิดเป็นตลาดขนาดใหญ่ซึ่งสร้างในพื้นที่ของเจ้าแม่หล้า ว่ากันว่าบ้านไร่ดงมีคนจากถิ่นอื่นเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งเงี้ยว ม่าน มอญ เม็ง ลื้อ ยอง มีการก่อสร้างบ้านเรือนเป็นอาคารคอนกรีตเปิดเป็นร้านค้า ร้านทำทอง

กระทั่งประมาณ 10 – 20 ปีที่ผ่านมา ความเจริญได้แผ่ขยายเข้ามามากขึ้น ทำให้บ้านไร่ดงเป็นชุมชนใหญ่ ตลาดจึงย้ายไปอยู่ในแรกกลางชุมชนในพื้นที่ของชาวบ้าน ตลาดขนาดใหญ่ที่อยู่ในที่ดินของเจ้าแม่หล้าจึงซบเซาลงตามกาลเวลา

เจ้าแม่หล้า ณ เชียงใหม่ สร้างคุ้มเป็นบ้านไม้สักทั้งหลัง อาศัยพร้อมด้วยลูกหลาน ก่อนที่ท่านจะสิ้นชีพลงที่บ้านไร่ดงด้วยอายุ 70 ปี ปัจจุบันลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าราชสัมพันธวงศ์และเจ้าแม่หล้า ณ เชียงใหม่ ยังอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านไร่ดง ได้แก่ บ้านคุณยายเทียมตา ณ เชียงใหม่ ภรรยาของเจ้าพงษ์สว่าง ณ เชียงใหม่ บุตรของเจ้าแม่หล้า และคุณลุงวิชัย-คุณป้าปทุมพร ณ เชียงใหม่ บุตรของเจ้าเจ้าสุรกัณทร ซึ่งท่านเป็นบุตรของเจ้าแม่หล้า ณ เชียงใหม่

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น