คณะแพทยศาสตร์ มช.เสวนาวิชาการ ความรู้เกี่ยวกับโรคทางโลหิตวิทยา

หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. จัดนิทรรศการและเสวนาวิชาการ ความรู้เกี่ยวกับโรคทางโลหิตวิทยา เรื่อง สเต็มเซลล์ รักษาโรคได้จริงหรือ เพื่อให้ความรู้เรื่องการรักษาโรคด้วยเซลล์ต้นกำเนิด เม็ดเลือดแก่ผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก ศ.คลินิก.พญ.บุญสม ชัยมงคล เป็นประธานในพิธี
อาจารย์แพทย์หญิงลลิตา นรเศรษฐธาดา ผู้รับผิดชอบโครงการ หัวหน้าหน่วยโลหิตวิทยาเปิดเผยว่า หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้จัดนิทรรศการและเสวนาวิชาการขึ้นในครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้เรื่องการรักษาโรคด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแก่ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปนั้น เป็นการเสริมความรู้ การปฏิบัติตัวและการดูแลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคลากร ทางการแพทย์ และ ผู้ป่วย และญาติ ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการเข้ารับการรักษา โดยการจัดตั้งศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย หอผู้ป่วยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด หน่วยกรองเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด และหน่วยเก็บรักษาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดด้วยความเย็น ซึ่งได้เริ่มจัดตั้งโดยใช้เวลาหลายปี กระทั่งแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการแก่ผู้ป่วยในปี พ.ศ. 2557 แต่เนื่องด้วยผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด จึงเห็นเป็นการดีที่จะจัดนิทรรศการและการเสวนาเรื่องการรักษาโรคด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เพื่อผู้ป่วยและญาติรวมทั้งประชาชนทั่วไปได้รับความรู้ และความเข้าใจการรักษาโรคด้วยวิธีนี้ พร้อมทั้งแนะวิธีการปฏิบัติตัวขณะเข้ารับการรักษา และหลังรับการรักษา
ภายในงานประกอบไปด้วยเสวนาเรื่อง สเต็มเซลล์ คืออะไร มาจากไหน, สเต็มเซลล์ รักษาโรคอะไรได้บ้าง ,ถาม – ตอบ คำถามเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ ,บอร์ดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับ สเต็มเซลล์และโรคทางโลหิตวิทยา อาทิ โลหิตจางธาลัสซีเมีย, มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอีโลมา, มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คู่มือสำหรับผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคทางโลหิตวิทยา อาทิเช่น โลหิตจางธาลัสซีเมีย, มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอีโลมา, มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น