วิทย์ ม.พะเยา เปิดห้อง ปฏิบัติการวิทยาศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดห้องปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการจัดการสารชีวภัณฑ์อย่างถูกวิธี ให้แก่กลุ่มเกษตรกรคณะศึกษาดูงานจากศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน อำเภอแม่ใจ เพื่อก้าวไปสู่ เกษตรกรยุคใหม่ ไทยแลนด์ 4.0

เมื่อวันที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้เปิดห้องปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการจัดการสารชีวภัณฑ์อย่างถูกวิธี ให้แก่กลุ่มเกษตรกรคณะศึกษาดูงานจากศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) อำเภอแม่ใจ จำนวนกว่า 50 คน ณ ห้องปฏิบัติการคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชั้น 3 อาคารวิทยาศาสตร์ ภายใต้โครงการศึกษาดูงานของสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นิสันต์ สัตยาศัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต้อนรับและเปิดโครงการ ซึ่งการอบรมแบ่งเป็นการให้ความรู้ทางวิชาการ หลักการทางวิทยาศาสตร์ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเกษตรกรผู้ใช้สารชีวภัณฑ์ในการทำการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สารชีวภัณฑ์ที่ใช้ในการเกษตร เทคนิคพื้นฐาน ตลอดจนการจัดการอย่างถูกวิธี การอบรมเน้นเรื่องเชื้อราไตรโคเดอร์มา สายพันธุ์ท้องถิ่นพะเยา ที่ทาง ดร.นิคม นาคสุพรรณ หัวหน้าสาขาวิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา พร้อมด้วยนิสิต และภาคีเครือข่าย ร่วมทำการศึกษาวิจัย ภายใต้โครงการบริการวิชาการฯ ของมหาวิทยาลัยพะเยา ลักษณะเด่นของเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่คัดแยกเชื้อได้ คือ มีการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดพะเยาได้ดี ให้ผลในการควบคุมเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในพืชชนิดต่างๆ โดยเฉพาะโรคไหม้คอรวงในข้าว อยู่ในระดับที่น่าพอใจ

การอบรมครั้งนี้ยังได้ทำการสอนเทคนิคทางห้องปฏิบัติการในการเลี้ยงเชื้อราไตรโคเดอร์มา การขยายเชื้อรา และการนำเชื้อไปใช้ในการเกษตรอย่างถูกต้อง โดยเน้นให้เกษตรกรได้ลงมือปฏิบัติเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อ การเตรียมจานอาหารเพาะเลี้ยง เทคนิคปราศจากเชื้อ การถ่ายเชื้อ และการเก็บรักษาสายพันธุ์ โดยลักษณะของกิจกรรมเน้นการยกระดับความสามารถของเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิ โดยอาศัยเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยา ในการจัดการสารชีวภัณฑ์ตามธรรมชาติ ในท้องถิ่น เพื่อช่วยในการลดต้นทุนภาคการผลิต ลดการใช้สารเคมี ทั้งยาฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมี อันเป็นการสนับสนุนการผลิตภาคการเกษตรแบบปลอดภัย ที่ปลอดภัยทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เพื่อสอดรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ภายใต้โมเดล ไทยแลนด์ 4.0 และเป็นการสร้าง ชาวนาไทย 4.0

สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับการผลิตและประยุกต์ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา โทร. 054-466-666 ต่อ 3675 ทางคณะฯ ยินดีถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีความพร้อมเพื่อก้าวไปสู่ การเกษตรยุคใหม่ ไทยแลนด์ 4.0

ร่วมแสดงความคิดเห็น