หอ “หละกังสะดาน” ในวัดหลวงลำพูน

จังหวัดลำพูนเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากเชียงใหม่ เมืองแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในอาณาจักรล้านนา “เมืองลำพูน” หรือ “เมืองหริภุญชัย” สร้างขึ้นเมืองปี พ.ศ.1439 ถือได้ว่านครหริภุญชัยเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นก่อนเมืองอื่นในอาณาจักรล้านนา

นครลำพูนแต่เดิมเคยเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองทั้งศิลปวัฒนธรรม การเมืองการปกครองรวมทั้งการค้าขายที่มั่งคั่ง อาณาจักรหริภุญชัยถือกำเนิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้และยังถือได้ว่าเป็นปฐมอาณาจักรที่มีความเก่าแก่ที่สุด ดังนั้นนครลำพูนจึงเป็นเมืองที่เก่าและสำคัญ มีชื่อเสียงในด้านศิลปกรรมที่สวยงามโดยเฉพาะภายในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยยังปรากฏโบราณสถานที่สำคัญต่าง ๆ มากมาย

นครหริภุญชัยหรือเมืองลำพูน ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิงและแม่น้ำกวง หลังจากที่สร้างเมืองเสร็จพระสุเทวฤาษีและพระสุกกทันตฤาษีจึงได้อัญเชิญพระนางจามเทวี พระธิดาแห่งกรุงละโว้ให้เสด็จขึ้นมาครองเมือง ดังนั้นศิลปกรรมที่ยังปรากฏอยู่ตามวัดต่าง ๆ ในลำพูนจึงเป็นศิลปกรรมสมัยหริภุญไชยแทบทั้งสิ้น

วัดหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และผู้คนมักจะนิยมเดินทางมากราบไหว้อยู่เสมอก็คือ “วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร” ถึงแม้ว่าวัดนี้จะไม่ได้สร้างในสมัยของพระนางจามเทวี แต่ก็เป็นผลพวงของพระองค์ที่ได้ปูพื้นฐานของพระศาสนาในนครหริภุญชัยจนสืบต่อมาถึงกษัตริย์ในรุ่นหลัง ๆ

เมื่อเดินทางมาเยือนเมืองลำพูนก็ต้องแวะชมความรุ่งเรืองของศิลปกรรมแบบหริภุญชัย วัดพระธาตุฯ ถือเป็นวัดหลวงสำคัญของชาวลำพูน สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1590 ในสมัยของพระเจ้าอาทิตยราช ปูชนียสถานสำคัญคู่เมืองคือ องค์พระบรมธาตุหริภุญชัย ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ องค์เดิมนั้นสูงเพียง 3 วามีโกษทองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุสูง 3 ศอก ต่อมาเมื่อหริภุญไชยตกเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ พระมหาเถระในลำพูนและขุนฟ้าได้ก่อพระเจดีย์รูปทรงกลมครอบองค์เดิม มีขนาดสูง 10 วา จากนั้นได้มีการบูรณะองค์พระธาตุอีก 2 ครั้งในสมัยพระเจ้าเมืองแก้วและในสมัยของพระเจ้ากาวิละโดยได้ยกฉัตรขึ้นทั้ง 4 มุม

ปัจจุบันพระธาตุหริภุญชัยได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 ถือเป็นศาสนาสถานสำคัญคู่เมืองลำพูนและดินแดนล้านนาแล้ว เจดีย์องค์นี้ยังนับว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา บริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยยังปรากฏโบราณสถานซึ่งมีความสำคัญนั่นก็คือ “หอระฆัง” หรือ “หอหละกังสะดาน” ประดิษฐานฆ้องใบใหญ่ ซึ่งหล่อที่วัดพระสิงห์เชียงใหม่ เมื่อปีวอก โทศกจุลศักราช 1222 ตรงกับ พ.ศ.2403 มีตัวอักษรไทยเหนือแบบฝักขามจารึกข้อความบนหละกังสะดานนี้ว่า

“สร้างหละกังสะดานหน่วยนี้ แต่เมื่อศักราชได้ 1222 ตัว ปีกดสัน เดือน 9 ออก 3 ค่ำวันอังคาร หล่อกันจะนะมหาเถรเจ้า วัดป่าเมิงแพร่ เป็นเค้าแก่สัทธาภายใน เจ้าหลวงเมิงเจียงใหม่เป็นเค้าแก่สัทธาภายนอก พร้อมสร้างหล่อในวัดพระสิงห์ เวียงเจียงใหม่มาไว้เป็นเครื่องปูจาทานกับพระธาตุเจ้า อันตั้งไว้ในเมิงหริภุญชัยที่นี่ 5,000 พระวัสสาแล”

หอหละกังสะดานในอดีตจะมีเสาไม้เตี้ย ๆ สองต้นแล้วมีไม้ท่อนหนึ่งวางพาดอยู่ ไม้ท่อนนี้คือไม้ที่สำหรับใช้ตีฆ้อง ปัจจุบันทางวัดได้สร้างเป็นมณฑปขึ้นอย่างสวยงามสำหรับเก็บรักษาฆ้องให้อยู่ในสภาพดี

พระเทพมหาเจติยาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดลำพูน เล่าว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.2479 สมัยที่ยังเป็นเด็กวัดอยู่ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย ยังทันได้เห็นหอหละกังสะดานหลังเก่า ซึ่งสมัยก่อนจะมีเพียงแค่เสา 2 ต้นสำหรับแขวนหละกังสะดาน ด้านหลังหอหละกังสะดานจะเป็นหอพระนาค เป็นซุ้มทรงสี่เหลี่ยม

 

ภายหลังปี พ.ศ.2480 ได้ทำการรื้อหอหละกังสะดานและหอพระนาค เพื่อสร้างหอหละกังสะดานหลังใหม่ พระเทพมหาเจติยาจารย์ เล่าต่ออีกว่า เมื่อครั้งที่ชาวบ้านช่วยกันรื้อหอหละกังสะดานและหอพระนาค ได้มีการพบพระพุทธรูปสำริดหลายองค์ บางองค์ทำมาจากทองเหลือง บางองค์ทำมาจากทองแดง เมื่อนำพระพุทธรูปที่พบมาขัดทำความสะอาดแล้วเหมือนนาค ชาวบ้านจึงเรียกหอพระหลังนี้ว่า “หอพระนาค”

ปัจจุบันทางวัดได้รื้อหอหละกังสะดานหลังเก่าแล้วสร้างใหม่ขึ้นแทน โดยใช้เงิน 180 รูปี เป็นหอหละกังสะดาน 2 ชั้น ชั้นล่างแขวนหละกังสะดาน ส่วนชั้นบนแขวนระฆัง ซึ่งหอหละกังสะดานหลังใหม่ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของวัดพระธาตุหริภุญชัย หากจะนับอายุของหละกังสะดานลูกนี้ น่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 145 ปี เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยววัดนี้มักจะไม่พลาดที่จะถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น