จ.เชียงใหม่ ส่งเสริมจัดการขยะมูลฝอย ในชุมชน

วันที่ 21 ก.พ.60 ในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ ที่อาคารอำนวยการศาลากลาง จ.เชียงใหม่ นายสมชาย เกตะมะ รักษาการ ผอ.กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติที่ประชุม เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เห็นด้วยกับแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2560) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอและให้ประสานกับกระทรวงมหาดไทย จัดทำเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศระยะสั้น จึงได้มีการบูรณาการร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน ประชุมจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ ” ประเทศไทยไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ระยะ 1 ปี โดยใช้หลักการ 3Rs หรือ 3ช คือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ เป็นไปตามที่กำหนดกระทรวงมหาดไทย

จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ โดยมีเป้าหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานองค์กรทุกภาคส่วน ร่วมการดำเนินการ ได้แก่ ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เข้าสู่ระบบการกำจัดที่ปลายทางลดลง ร้อยละ 5 เมื่อเปรียบเทียบกับ ปี พ.ศ. 2559 ร้อยละ 100 ของส่วนราชการ สถานศึกษา ศาสนสถาน ภาคเอกชน และสถานประกอบการ จัดกิจกรรมการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย หรือการนำขยะมูลฝอยไปใช้ประโยชน์ ร้อยละ 40 ของหมู่บ้าน หรือชุมชนในพื้นที่ สามารถเป็นต้นแบบการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย ร้อยละ 100 ของหมู่บ้านหรือชุมชน มีการจัดตั้งจุดรวบรวมขยะอันตรายชุมชน และกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย ร้อยละ 70 และมูลฝอยติดเชื้อร้อยละ 85 ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้รัฐบาลได้กำหนดให้นโยบายระดับชาติ เพื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ จึงต้องมีการบริหารจัดการอย่างถูกวิธีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งนี้ ผลความคืบหน้าการดำเนินการในภาพรวมของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนมกราคม 2560 ปรากฏว่ามีการรายงานข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอย เมื่อปี 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น รวม 605,351.16 ตัน/ปี หรือ 1,658.87 ตัน/ต่อวัน และในขนาดนี้มีหมู่บ้านหรือชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะแล้ว จำนวน 329 แห่งจาก 2,258 แห่ง คิดเป็น 14.57%

มีการตั้งจุดรวบรวมขยะอันตรายอย่างน้อยหมู่บ้าน หรือชุมชนและจุด จำนวน 686 จุด คิดเป็น 30.38% และเพื่อเป็นการกระตุ้นการดำเนินการมีส่วนร่วมจากประชาชน จ.เชียงใหม่ ได้ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์โครงการติดตั้งในหมู่บ้าน หรือชุมชนตามความเหมาะสม และจัดให้มีการจัดการประกวดหมู่บ้านหรือชุมชนสะอาดใน ระดับตำบลและระดับอำเภอ ภายในเดือนกรกฎาคม 2560 และในส่วนของปัญหาการขับเคลื่อนโครงการ พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ได้รวบรวมขยะอันตรายไว้แล้วแต่ยังไม่มีจุดกำจัด ซึ่งทาง จ.เชียง ใหม่ จึงได้ประสาน อบจ.เชียงใหม่ จัดหาจุดรวบรวมขยะอันตราย และนำไปกำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น