คนมอญลำพูน

คนมอญเป็นกลุ่มคนที่เรียบง่ายไม่ปรารถนาที่จะต่อล้อต่อเถียงกับใคร ตลอดทั้งชีวิตของพวกเขามุ่งแสวงหาความสงบและการแสดงออกถึงศรัทธาต่อศาสนาอย่างแรงกล้า

นี่อาจเป็นคำกล่าวหนึ่งที่เหมือนจะตอกย้ำลงไปว่า แท้จริงแล้วคนมอญไม่ได้เป็นชนชาตินักรบ หากแต่พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่รักความสงบ ดำรงตนอยู่ภายใต้หลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนามากกว่า ในอดีตที่ผ่านมาจะสังเกตว่าตั้งแต่พื้นที่ขวานทองของไทยเรื่อยไปจนกระทั่งถึงพม่าและอินเดียบางส่วนเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มคนมอญ กระทั่งพวกเขาถูกรุกรานและได้อพยพเร่ร่อนไปอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้พวกเขาถูกมองว่าเป็นกลุ่มชนที่ไม่มีหลักแหล่งแน่นอน และนี่คืออนุสติสำคัญแห่งหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อฉากสุดท้ายของมหาอาณาจักรที่สำคัญที่สุดในดินแดนสุวรรณภูมิ เคยเป็นถึง “แอ่งอารยธรรมแม่” ของอารยธรรมทั้งปวงในแถบอุษาคเนย์ จักต้องมาจบลงด้วยการไร้ชาติสิ้นแผ่นดิน ทว่าหากย้อนเข้าไปในยุคสมัยประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่า “มอญ” คือบรรพบุรุษกลุ่มแรกที่เคยครอบครองผืนแผ่นไทยมาก่อน เช่นในพุทธศตวรรษที่ 8 หรือราว 1,800 ปีมาแล้วมีหลักฐานยืนยันว่า อาณาจักรมอญแห่งแรกสุดมีศูนย์กลางอยู่แถบนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ซึ่งเรียกรวมกันว่า “อาณาจักรทวารวดี” (Dvaravati)

นอกจากนั้นยังมีหลักฐานเอกสารยืนยันอีกว่า บรรพชนของคนมอญน่าจะมาจากเมืองตะเลงคนา (Telinggana) ซึ่งอยู่ในแถบอินเดียตอนใต้ ก่อนจะอพยพย้ายมาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดีที่เมืองหงสาวดีแล้วตั้งเป็นอาณาจักรขึ้นเรียกว่า “อาณาจักรพยู” ตอนหลังถูกพม่าเข้ารุกรานและได้อพยพหนีเข้ามาอยู่ในสยาม โดยเข้ามาตั้งรกรากครั้งแรกที่บริเวณจังหวัดนครปฐม ต่อมาได้กระจายออกไปตามที่ต่าง ๆ ในประเทศ นอกจากนี้ยังมีการขุดพบหลักฐานที่จังหวัดนครปฐม พบเหรียญเงินปรากฏอักษรมอญไว้ว่า “เย ธฺมมา ศรีทวารวติ” ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับชื่อของเมืองทวารวดี ทำให้ทราบว่ากลุ่มคนมอญเคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนในสมัยทวารวดีเมื่อก่อนศตวรรษที่ 15

สำหรับกลุ่มคนมอญที่เข้ามาอยู่ในหริภุญชัย สันนิษฐานว่าเข้ามาเมื่อราวศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดเกาะกลาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งน่าจะเป็นคนมอญกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่ มอญกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า “พวกเม็งบ้านหนองดู่” ตั้งบ้านเรืออยู่สองฝั่งแม่น้ำปิง ฝั่งตะวันออกเป็นมอญบ้านหนองดู่และบ่อคาว ส่วนฝั่งตะวันตกเป็นมอญบ้านต้นโชค อ.สันป่าตอง มีแม่น้ำปิงเป็นสายใยยึดโยงความสัมพันธ์รวมคนมอญทั้งสองฝั่งได้ราว 3,000 กว่าชีวิต 500 กว่าครัวเรือน

หาากย้อนไปในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นว่า ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการอพยพคนมอญขึ้นมาอาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังกลุ่มใหญ่ 1 – 2 ระลอก ซึ่งปัจจุบันปรากฏชุมชนคนมอญทั้งในจังหวัดลำพูนและลำปาง ขณะเดียวกันประเด็นหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจก็คือประเด็นเรื่อง พระนางจามเทวีเป็นมอญที่มาจากละโว้หรือเป็นมอญบ้านหนองดู่

ปริศนาเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของพระนางจามเทวีนั้นเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันไม่จบ เนื่องจากตำนานที่เขียนขึ้นล้วนแต่งในสมัยหลังทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามในเอกสารประกอบการเสวนาจัดทำโดยพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญชัย เรื่องปฐมเหตุแห่งมอญหริภุญชัย กล่าวถึงกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรหริภุญชัยสมัยนั้นประกอบด้วยคน 3 กลุ่มหลัก คือมอญจากละโว้หรือมอญทวารวดี ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูงพวกนักปราชญ์ นักบวช ขุนนาง ศิลปิน นายช่างที่เดินทางมาพร้อมกับพระนางจามเทวีกว่าเจ็ดพันชีวิต กลุ่มที่ 2 คือชาวเม็งพื้นเมือง ซึ่งเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน พูดภาษาคล้ายคลึงกับมอญราชสำนัก ซึ่งกลุ่มนี้พระนางจามเทวีทรงโปรดให้เข้ามาอาศัยอยู่ภายในเวียงปะปนกับชาวมอญจากภาคกลางอย่างกลมกลืน ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นพวกลัวะหรือละว้า ชนพื้นเมืองดั้งเดิมมีสถานะเป็นพลเมืองชั้นสองโดยให้อาศัยอยู่บริเวณนอกเมือง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เราไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่ย้อนไปถึงยุคของพระนางจามเทวีในรูปของจารึกหรือศิลปกรรม

ร่องรอยอารยธรรมมอญที่เหลือให้เห็นในลำพูนก็พบในสมัยของพระเจ้าสรรพสิทธิ์ (พุทธศตวรรษที่ 15) เป็นอักขระมอญโบราณจารึกลงบนแท่งหินขนาดใหญ่จำนวน 8 หลัก (ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีจารึกมอญมากที่สุดในประเทศไทย) ทำให้ทราบว่ามีกลุ่มชนชาวมอญเคยอาศัยอยู่ในอาณาจักรหริภุญชัยมาก่อนที่จะถูกกลืนหายไปพร้อมกับการเดินทางมาถึงของกลุ่มชนชาวไทจากลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำโขง ภายใต้ชื่ออาณาจักรล้านนา

อย่างไรก็ตามแม้ว่าชาวมอญแม่ระมิงค์หลายคนจักพยายามยืนยันต้นตระกูลของพวกเขาคือมอญหริภุญชัย มิใช่มอญใหม่จากที่อื่น แต่นักประวัติศาสตร์ในยุคหลังกลับเชื่อว่าน่าจะเป็นมอญใหม่มากกว่า เพราะจากประวัติศาสตร์ล้านนายุคหลังหริภุญไชยเป็นต้นมา แทบไม่มีการกล่าวอ้างถึงชาวมอญอีกเลย เนื่องจากลำพูนได้กลายเป็นแหล่งอาศัยของชาวไทยวน ไทยอง ไทลื้อ ซึ่งอพยพเข้ามาแทนที่ชาวมอญไปเรียบร้อยแล้ว

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น