“งานประจำร่วมกับการวิจัย” นำไปสู่การใช้ประโยชน์จริง

 “งานประจำร่วมกับการวิจัย” นำไปสู่การใช้ประโยชน์จริง
โครงการวิจัย “การประเมินประสิทธิภาพการล้างเครื่องมือ โดยการทดสอบคราบโปรตีน” เป็นการพัฒนางานประจำด้วยการวิจัยในครั้งนี้ เป็นการทำวิจัยในลักษณะบูรณาการจากหลายวิชาชีพ และสามารถนำผลงานวิจัยมาใช้งานได้จริง หลังจากงานวิจัยบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยทีมวิจัยมาจากหลากหลายวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วยคุณชฎานันท์ ประเสริฐปั้น และคุณวันทนีย์ มาลัยหวล ซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพ สังกัดหน่วยจ่ายกลาง รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ อ.ดร. ภก.เฉลิมพงษ์ แสนจุ้ม คณะเภสัชศาสตร์ มช. และ ภก.ดร.พิสิฐ อุ่ยรุ่งโรจน์ บริษัท โพสเฮลท์แคร์ จำกัด
โดยโจทย์ของงานวิจัยนั้น สืบเนื่องมาจากมีอุปกรณ์ปราศจากเชื้อที่ไม่ได้ใช้งาน แต่หมดระยะเวลาการคงสภาพปราศจากเชื้อ ต้องเข้ามาผ่านกระบวนการทำ ปราศจากเชื้อซ้ำก่อนที่จะนำไปใช้กับผู้ป่วยนั้น มีความจำเป็นต้องทำการล้างทำความสะอาดก่อนหรือไม่ โดยทำการเปรียบเทียบขั้นตอน การทำปราศจากเชื้อซ้ำทั้งหมด 3 วิธีคือ
1) อุปกรณ์ผ่านการล้างด้วยมือ จำนวน 35 ตัวอย่าง
2) อุปกรณ์ผ่านการล้างด้วยเครื่อง จำนวน 40 ตัวอย่าง
3) อุปกรณ์ที่ไม่ผ่านกระบวนการล้าง 25 ตัวอย่าง
โดยอุปกรณ์ที่ผ่านกระบวนการทั้ง 3 กลุ่มจะถูกวิเคราะห์ด้วยชุดทดสอบทดสอบโปรตีน ก่อนเข้าสู่กระบวนการทำปราศจากเชื้อ ซึ่งผลการทดสอบโปรตีนพบว่า
1) หลังการล้างด้วยมือ
ไม่ผ่านการทดสอบโปรตีนตกค้าง ร้อยละ 22.80 และผ่านการทดสอบโปรตีนตกค้าง ร้อยละ 77.14
2) หลังการล้างด้วยเครื่องล้างอัตโนมัติ
ไม่ผ่านการทดสอบโปรตีนตกค้าง ร้อยละ 17.50 และผ่านการทดสอบโปรตีนตกค้าง ร้อยละ 82.50
3) ไม่ได้รับการล้าง
ไม่ผ่านการทดสอบโปรตีนตกค้าง ร้อยละ 56.00 และผ่านการทดสอบโปรตีนตกค้าง ร้อยละ 44.00จากผลการวิจัยนั้นแสดงให้เห็นว่า อุปกรณ์ปราศจากเชื้อที่ไม่ได้ใช้งาน เมื่อต้องนำมาทำความสะอาดเชื้อซ้ำ ควรนำมาทำการล้างให้สะอาด ก่อนนำไปอบไอน้ำปราศจากชื้อทุกครั้ง ซึ่งผลงานวิจัยที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยในการใช้อุปกรณ์การแพทย์ อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดงบประมาณรายจ่าย ด้านอุปกรณ์การแพทย์ของ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้จัดทำโครงการวิจัย “การหาสภาวะที่เหมาะสมของน้ำยาล้างอุปกรณ์การแพทย์ สำหรับเครื่องล้างฆ่าเชื้ออัตโนมัติ” ซึ่งทำการศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการล้างทำความสะอาดทั้งหมด 3 ปัจจัย คือ
อุณหภูมิ เวลา และความเข้มข้นของน้ำยาล้าง โดยทำการประเมินด้วยชุดทดสอบ ที่ได้มาตรฐานสากล ทั้งหมด 4 ชนิด ผลการทดสอบพบว่าสภาวะที่เหมาะสมที่ได้นั้น สามารถลดปริมาณการใช้น้ำยาล้าง สำหรับเครื่องล้างอัตโนมัติได้ถึงร้อยละ 40 ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณรายจ่ายของ รพ.ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งการวิจัยครั้งนี้เป็นต้นแบบการวิจัยจากงานประจำ โดยการร่วมมือแบบสหสาขาวิชาชีพ ด้วยผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างอุปกรณ์การแพทย์สำหรับเครื่องล้างอัตโนมัตินี้ ได้ผ่านการวิจัยและพัฒนา โดยบริษัทของคนไทยและผลิตภายในประเทศ อีกทั้งผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับรางวัล “Best Abstract” และ IDAT Award จากงานประชุมวิชาการนานาชาติ The 8th Interntional Congress of the Asia Pacific Society of Infection Control ซึ่งจัดประชุมเมื่อวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา ณ เซนทาราแกรนด์ แอท เซลทรัลเวิร์ล
รวมทั้งเป็นการตอบรับต่อนโยบายของรัฐบาลในการเข้าสู่ “Thailand 4.0” ซึ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมภายในประเทศ เพื่อความมั่งคั่ง มั่นคงและยั่งยืน ต่อไปของประเทศไทย โดยทีมวิจัยต้องขอขอบพระคุณแหล่งทุนวิจัย ที่สนับสนุนการวิจัยครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) รวมทั้ง รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ มช. มา ณ ที่นี้ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น