เกิดเหตุสลด อุโมงค์ส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง ถล่มทับนักธรณีวิทยา เสียชีวิต 2 คน

เมื่อเวลา 07.30 น.วันที่ 2 มีค 60 ทางศูนย์วิทยุตำรวจ สภ.แม่แตง เชียงใหม่ ได้รับแจ้งเกิดเหตุอุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่ถล่ม มีผู้เสียชีวิต เหตุเกิดที่อุโมงค์ส่งน้ำ หมู่ 1 ต.แม่หอพระ อ.แม่แตง จึงได้แจ้งให้ ร.ต.อ.จรินทร์ วิริยา พงส. และฝ่ายเกี่ยวข้องทราบ พร้อมรุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ ร่วมกับ จนท.กู้ภัย ที่เกิดเหตุนั้นเป็นอุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่ ทราบต่อมาว่ามีผู้เสียชีวิตอยู่ในอุโมงค์ จำนวน 2 คน ทราบชื่อต่อมาว่าคือ นายปฐมพร ศิริวัฒน์ อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 10/1 หมู่ 4 ต.หนองควาย อ.หางดงเชียงใหม่ นายปรัชญาวัต วสุอนันต์ อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3 ซอย 4 (ถนนเวสาลี)ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ ทาง จนท.หน่วยกู้ภัยได้นำร่างของบุคคลทั้งสองออกมาได้สำเร็จ แล้วนำส่งแผนกนิติเวช

ทางด้านนายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ หน.สนง.ปภ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้เกิดอุโมงค์ถล่ม ภายในอุโมงค์โครงการส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง บ้านป่าเลา ต.แม่หอพระ อแม่แตง เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิต 2 คน ซึ่งเป็นนักธรณีวิทยาของบริษัท อิตาเลี่ยนไทย จำกัด โดยทราบมาว่าทุกเช้าก่อนคนงานจะทำงาน จนท.ที่เสียชีวิตทั้ง 2 คน มีหน้าที่สำรวจเพื่อจะได้ออกแบบระบบน้ำการค้ำยัน ภายในอุโมงค์เป็นประจำทุกวัน และวันนี้ขณะที่ทั้งสองเข้าไปสำรวจนั้นได้เกิดดินในอุโมงค์ทรุดตัว และทับร่างทั้งสองเสียชีวิตดังกล่าว

โดยทีมกู้ภัยในพื้นที่ได้นำร่างผู้เสียชีวิตส่งไปยัง รพ.แม่แตง แล้ว โดยเบื้องต้นทางผู้ว่าฯ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ สั่งให้นายอำเภอแม่แตงเข้าอำนวยการ ณ จุดเกิดเหตุพร้อมด้วย หน.สนง.ปภ. เจ้าหน้าที่ตำรวจและส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบแล้ว สำหรับที่เกิดเหตุนั้นเป็นอุโมงค์เข้า-ออก หมายเลข 6 เป็นอุโมงค์สำหรับใช้ในการลำเลียงขี้หินจากอุโมงค์ส่งน้ำออกมาในระหว่างการก่อสร้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับอุโมงค์ดังกล่าวนั้น ได้ขุดเจาะอุโมงค์ผันน้ำแม่งัด-แม่กวง ไปได้ร้อยละ 11 ของการดำเนินการทั้งหมด สว่านเจาะเริ่มทำงานด้านแม่กวงไปแม่งัดได้แล้ว กว่า 400 เมตร ขณะที่งานด้านแม่งัดไปแม่กวงยังไม่คืบหลังกรมอุทยานฯ ไม่สามารถมอบพื้นที่ ทีมทำงานยังเข้าพื้นที่ไม่ได้ รอประกาศเพิกถอนอีกนานนับปี มีเพียงขุดเจาะอุโมงค์เพื่อเข้า-ออก กว่าร้อยละ 90 ติดพื้นที่เข้าเขตอุทยานฯ ส่วนพื้นที่ป่าสงวนทำงานได้

นายวงศ์พันธ์ วงศ์สมุทร หน.ฝ่ายวิศวกรรม สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 งานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง  เผยว่าความคืบหน้าของการขุดเจาะ และระเบิดเพื่อดำเนินการสร้างอุโมงค์ผันน้ำ จากลำน้ำแม่แตงไปเขื่อนแม่งัด ในส่วนนี้ยังไม่มีการดำเนินงาน ส่วนการดำเนินงานในส่วนแม่งัดไปแม่กวง ได้เริ่มขุดเจาะส่วนพื้นที่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตป่าสงวนเป็นอุโมงค์ เข้า-ออก ได้ 600 กว่าเมตร คิดเป็นร้อยละ 90 เหลือเพียงอีกไม่กี่เมตรเพราะติดพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ ที่ยังไม่ได้รับมอบจากกรมอุทยานฯ แต่ส่วนป่าสงวนแห่งชาติได้รับส่งมอบเรียบร้อยสามารถดำเนินการได้

ความคืบหน้าด้านการขุดเจาะอุโมงค์จากแม่กวงไปแม่งัด ซึ่งเป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร เป็นสัญญาที่ 2 หัวเจาะได้เริ่มทำงานขุดเจาะเข้าไปแล้ว กว่า 400 เมตร แต่การทำงานยังไม่เต็ม ได้เพียงครึ่งเดียว เนื่องหัวเจาะพร้อมชุดรางมีความยาวกว่า 200 เมตร ต้องอีกสักพักให้การขุดเจาะได้เต็ม 100 ในการทำงานก็จะสามารถขุดเจาะได้ 15 -20 เมตรต่อวัน ทำให้ภาพรวมของการทำงานไปได้เพียง ร้อยละ 11 ซึ่งล้าช้ากว่าปกติเพราะยังติดขัดบางส่วน แต่คาดว่าหลังจากในส่วนแม่งัด-แม่กวง ทีมขุดเจาะจำนวน 3 ทีม จะสามารถเข้าทำงานได้ตามแผนงาน ก็คาดจะแล้วเสร็จตามสัญญา

ขณะเดียวกันได้เสนอ ครม.เพื่ออุมัติในหลักการ เพื่อดำเนินการเพิกถอนการใช้พื้นที่ขุดเจาะ ผ่านเขตอุทยานแห่งชาติศรีล้านนา ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ มี 2 ข้อหลักเพื่อให้พิจารณา แต่ขณะนี้มีการเสนอเพื่อให้อนุมัติสามารถเข้าใช้พื้นที่บางส่วนตามความเหมาะสม ในสัญญาของเขื่อนแม่งัดที่ได้รับอนุญาติก่อนหน้านี้ เพื่อเปิดทางในการดำเนินการได้เร็วขึ้น เพราะหากรอจนจบกระบวนคาดอย่างน้อย 1 ปี ถึงจะเพิกถอนส่งมอบพื้นที่ ทำให้มีความล่าช้าเกิดขึ้น ทั้งนี้เชื่อว่าการทำงานหากในอีกสักระยะก็จะเริ่มลงตัว ทีมเจาะเข้าพื้นที่ได้ทำตามแผนงาน ทำให้งานแล้วเสร็จตามสัญญาในปี 2564

สำหรับช่วงบริเวณจุดเกิดเหตุนั้น คาดว่าจะเป็น ช่วงโครงการก่อสร้าง อุโมงค์ผันน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล – เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ขนาดความกว้าง 4.2 เมตร ยาว 22.975 กม. ปริมาณน้ำผ่านอุโมงค์สูงสุด 26.50 ลบ.ม.ต่อวินาที ได้แบ่งสัญญาออกเป็น 2 สัญญา เนื่องจากอุโมงค์มีความยาว โดยสัญญาแรกนั้นวงเงินสัญญา 2,334,600,000 บาท เริ่มสัญญา 24 มีนาคม 2558 – 18 สิงหาคม 2564 สำหรับวิธีการที่ใช้นั้น จะใช้ระบบเจาะและระเบิด ในการขุดเจาะอุโมงค์ ความยาว 12.500 กม. ใช้เวลาก่อสร้าง 2,340 วัน

สัญญาที่ 2 วงเงินสัญญา 1,880,800,000 บาท เริ่มสัญญา 28 เมษายน 2558 – 6 เมษายน 2562 ระยะเวลาก่อสร้าง 1,440 วัน ใช้เครื่องเจาะอุโมงค์ ความยาว 10.476 กม. โดยใช้พื้นที่ใต้ดินอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ทั้งหมด 41 ไร่ รวมงบประมาณที่ ใช้ทั้งหมด 4,215,400,000 บาท ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า งบประมาณทั้งหมดที่ใช้ในการสร้างอุโมงค์ผันน้ำทั้ง 2 ช่วง ใช้งบประมาณ 11,515,400,000 บาท โดยจะเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564

ข่าวคืบหน้าเมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 2 มีค 60 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ หน.สนง. ปภ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันโดยมีนายอำเภอแม่แตง ,หน.สนง.ปภ.สาขาเชียงดาว ตำรวจ นายก ทต.แม่หอพระ กำนัน ต.แม่หอพระ และเจ้าหน้าที่ของบริษัทอิตาเลี่ยนไทย โดยที่ประชุมได้สรุปว่าในรอบของการทำงานในอุโมงค์นั้นทำงาน 24 ชั่วโมง และในเวลาเช้าและเย็น ทีมนักธรณีวิทยาของบริษัท 2 คน และนักธรณีวิทยาของบริษัท คอนเซาท์ 1 คน รวมเป็น 3 คน เข้าไปสำรวจออกแบบระบบการค้ำยันภายในอุโมงค์ เพื่อความปลอดภัยเป็นประจำทุกวัน เมื่อเข้าไปแล้ว จะกลับมาออกแบบระบบแล้วให้คนงานชุดที่ 2 จำนวน 15 คน เข้าไปทำการค้ำยันตามรูปแบบที่กำหนด และมีผลงานชุดที่ 3 เข้าไปขุดเจาะระเบิดและขนวัสดุออกมา ทางระบบรถราง

แต่ในวันนี้ พบว่าภายในอุโมงค์มีน้ำเป็นจำนวนมาก ขณะปฏิบัติได้เกิดฟองน้ำด้านบนของอุโมงค์ ทำให้มีหินขนาดใหญ่ หล่นลงมาภายในอุโมงค์ทับร่างของเจ้าหน้าที่บริษัททั้งสองคน ส่วนอีก 1 คน สามารถกระโดดหนีทัน แล้วออกมาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ภายนอกอุโมงค์ นำรถ excavator เข้าไปขุดค้นหาร่างผู้เสียชีวิตแล้วนำร่างผู้ประสบภัยส่ง รพ.แม่แตง ดังกล่าว

ในส่วนของสาเหตุหินก้อนใหญ่ร่วงในการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง นายวงศ์พันธ์ วงศ์สมุทร หน.ฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 ให้สัมภาษณ์ “เชียงใหม่นิวส์” ถึงเหตุการณ์หินก้อนใหญ่จากผนังเพดานอุโมงค์ช่วงบนร่วงใส่กระทั่งมีผู้เสียชีวิต 2 คน ว่า ต้องพูดถึงวิธีการทำงานก่อนในการขุดเจาะอุโมงค์ ตามสัญญาที่ 1 นี้ เป็นการขุดเจาะโดยวิธีระเบิด ในขั้นตอนการทำงานนั้น หากมีการระเบิดแล้วทุกครั้งจะต้องมีนักธรณีเข้าไปตรวจสอบบริเวณผนังด้านหน้าอุโมงค์ ที่มีการระเบิดแล้วก่อน ตรวจสอบว่าเป็นหินชนิดไหนประเภทอะไร เพื่อนำข้อมูลที่ได้มากำหนดว่า จะต้องปรับปรุงอุโมงค์ให้เกิดความแข็งแรงได้อย่างไร ต้องใช้วัสดุอะไรบ้าง อย่างเช่นจะใช้คอนกรีตพ่นหรือการติดตั้งเหล็กตระแกรง หรือจะต้องใช้สลักหินกี่อัน เพื่อยึดหินให้แน่นให้แข็งแรง

“ทั้ง 2 คนอยู่ในชุดที่จะเข้าไปตรวจสอบและเก็บข้อมูล เพื่อส่งให้วิศวกรเพื่อมากำหนดว่าจะปรับปรุงด้วยวิธีการอะไร แต่จังหวะที่นักธรณีเข้าไปในบริเวณดังกล่าวนั้น หินก่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านบนเพดานตกหล่นลงมาทับร่างของทั้ง 2 เป็นหินที่ร่วงลงไม่ใช่การทรุดตัวของผนังอุโมงค์ที่เจาะทั้งแผง คือเจาะโดยระเบิดเสร็จแล้วนักธรณีทั้ง 2 คนก็เข้าไปตรวจสอบเพื่อเก็บข้อมูล” นายวงศ์พันธ์ฯ กล่าว

หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมฯ กล่าวต่อว่า โดยปกติในการทำงานนั้น เมื่อทำการขุดเจาะระเบิดแล้ว ต้องรีบเข้าไปตรวจสอบก่อน หากช้าอาจะเกิดพังลงมาได้ กระบวนการในช่วงนี้ต้องใช้เวลา ต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ระเบิดเสร็จต้องรีบทำการตรวจสอบ เก็บข้อมูลต่างๆ ตามหลักวิชาการ และต้องรีบดำเนินการออกแบบ เลือกวิธีในการที่จะทำให้ผนังแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นการพ่นคอนกรีต การใช้สลักหิน เพื่อให้เกิดความมั่นคง กระบวนการหรือขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้เกิดความแข็งแรงแก่อุโมงค์เหล่านี้ต้องใช้เวลา ต้องรีบทำเพื่อให้เกิดความมั่นคงกับอุโมงค์

“การเข้าไปตรวจสอบในวันนี้ กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยปกติที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่เริ่มการขุดเจาะ การร่วงของหินก็มีอยู่ แต่ไม่ขนาดนี้ ครั้งนี้เป็นหินก้อนใหญ่ ส่วนใหญ่ที่เจอที่ร่วงลงมาจะเป็นก้อนเล็กๆ แต่ที่ร่วงหล่นครั้งนี้เป็นก้อนใหญ่มาก ในระยะที่เจาะได้ราว 636 เมตร จากปากอุโมงค์ที่เปิดเจาะเข้าไปเพื่อใช้ขนวัสดุ ซึ่งเหลืออีกไม่มากก็จะถึงแนวจุดที่ต้องเจาะตัวอุโมงค์ส่งน้ำแล้ว” นายวงศ์พันธ์ วงศ์สมุทร กล่าว

หน.ฝ่ายวิศวกรรมฯ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นที่มีการประเมินถึงสาเหตุ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องของชั้นหินที่เป็นหินผุ คาดว่าน่าจะมาจากเรื่องของหลักความปลอดภัย ซึ่งควรที่จะตรวจการร่วงหล่นของหินก่อนที่จะเข้าไป แต่ที่เคยทำมาแล้วยังไม่เคยเกิดเหตุเช่นว่านี้ ที่ต้องทำต่อเพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบที่เกิดนี้เกิดขึ้นอีก จะต้องเน้นในเรื่องความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นในทุกกระบวนการทำงาน จะต้องมีการตรวจสอบในทุกครั้งที่จะเข้าพื้นที่ทำงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น