นามสกุลเชื้อเจ้าในลำพูน

เป็นที่ทราบกันดีว่าเชื้อสายของเจ้านายฝ่ายเหนือ หรือ สกุล ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน, ณ ลำปาง มาจากตระกูลเจ้าเจ็ดตน ซึ่งเป็นราชวงศ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือที่ครองนครเชียงใหม่มาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

เจ้านายสยามประเทศมีพระบรมราชจักรีวงศ์ปกครองประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ.2325 แต่ราชวงศ์ “ทิพจักราธิวงศ์” ของผู้ครองนครฝ่ายเหนือซึ่งเป็นนครเอกราชนั้น มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2275

ระหว่างปี พ.ศ.2272 – 2275 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าบรมโกฏิ กษัตริย์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น ล้านนาไทยเกิดการจราจลรบราฆ่าฟันกันทั่วไป หาความสงบสุขมิได้ นครลำปางมีแต่พ่อเมืองควบคุมกันเองปล่อยให้สถานการณ์เสื่อมทรามลงเรื่อย ๆ ทางนครลำพูนก็ฉวยโอกาสให้ท้าวมหายศ ซึ่งเป็นพม่าครองเมืองเป็นแม่ทัพคุมไพร่พลไปตีเมืองลำปางได้ พระอธิการวัดชมพู ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่นับถือของชาวลำปาง จึงคบคิดกับพ่อเมืองกอบกู้บ้านกลับคืนมา กลุ่มผู้ที่คิดกู้ชาติจึงพร้อมใจกันเลือก “หนานทิพจักรวเนจร” ราษฎรสามัญผู้มีสติปัญญาและกล้าหาญชาญชัย ทั้งยังเคยเป็น หมอโพน ช้างป่ามาก่อน จนชาวบ้านตั้งสมญานามว่า “หนานทิพช้าง”

หนานทิพช้างนำไพร่พลออกรบกับท้าวมหายศ ซึ่งตั้งกองทัพอยู่ที่วัดลำปางหลวง ได้ต่อสู้กันจนที่สุดท้าวมหายศแตกพ่ายหนีไป เมื่อสิ้นสงครามแล้ว ชาวเมืองลำปางจึงสถาปนาหนานทิพช้างขึ้นเป็น “เจ้าพระยาสุละวะฤาชัยสงคราม” เป็นผู้ครองเมืองลำปางในปี พ.ศ.2275

เจ้าพระยาสุละวะฤาชัยสงคราม จึงตั้งราชวงศ์ของพระองค์ขึ้นมาเรียกว่าราชวงศ์ “ทิพจักราธิวงศ์” เจ้าพระยาสุละวะฤาชัยสงคราม ครองเมืองลำปางได้ 27 ปีก็ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.2302 เจ้าชายแก้ว บุตรชายของท่านก็ได้ขึ้นครองเมืองสืบต่อมาจนกระทั่งถึง พ.ศ.2307 อิทธิพลของพม่าก็กลับแผ่ขยายเข้ามาครอบครองภาคเหนือทั้งหมด คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน

ปี พ.ศ.2325 หลังจากที่พระเจ้ากาวิละ ราชบุตรของเจ้าฟ้าชายแก้วซึ่งเป็นหลานของพระยาสุลวะฤาชัยสงคราม ได้ร่วมกับทัพของพระเจ้าตากสินมหาราชขับไล่พม่าออกจากแผ่นดินล้านนาแล้ว จึงได้รับการสถาปนาแต่งตั้งเป็น พระยาวชิรปราการ และให้ย้ายจากเมืองลำปางไปเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ตั้งเจ้าคำสม น้องชายคนที่ 2 ครองนครลำปาง พร้อมกับตั้งเจ้าธรรมลังกา น้องชายคนที่ 3 เป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่ ตั้งเจ้าดวงทิพย์ น้องชายคนที่ 4 เป็นอุปราชเมืองลำปาง ตั้งเจ้าหมูหล้า น้องชายคนที่ 5 เป็นเจ้าราชวงศ์ลำปางและตั้งเจ้าคำฝั้น น้องชายคนที่ 6 เป็นเจ้าบุรีรัตน์เชียงใหม่ ต่อมาได้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 1 นับเป็นต้นสายสกุล ณ ลำพูน

เมืองลำพูน มีเจ้าหลวงปกครองมาทั้งสิ้น 10 พระองค์ จนถึงสมัยเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้าย ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล “ณ ลำพูน” ให้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2456 ณ พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระบรมมหาราชวัง
เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เป็นราชบุตรของเจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าหลวงลำพูน องค์ที่ 9 กับเจ้าแม่รถแก้ว มีพี่น้องรวม 5 คน ได้แก่ เจ้าหญิงมุกดา เจ้าชายตุ้ย เจ้าจักรคำ เจ้าหญิงแก้วมาเมืองและเจ้าหญิงหล้า เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ สมรสกับชายาและหม่อม รวม 6 คนคือ เจ้าแม่ขานแก้ว เจ้าแม่แขกแก้ว เจ้าหญิงส่วนบุญ เจ้ายอดเรือน หม่อมคำแยงและหม่อมแว่นแก้ว มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 8 คน

นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลให้กับ เชื้อสายเจ้าเมืองลำพูน ได้แก่ นามสกุล “ตุงคนาคร” แด่เจ้าราชภาติกวงศ์ (เจ้าน้อยดวงทิพย์) เป็นราชบุตรเจ้าน้อยอินถา เจ้าแม่เปาคำ ซึ่งเป็นต้นสกุลตุงคนาคร มีบุตรธิดากับเจ้าแม่เกี๋ยงคำ 4 คนคือ เจ้าน้อยดาด เจ้าน้อยเทพ เจ้าหนานชื่นและเจ้าแม่ประภาวดี

ยังมีนามสกุลของเจ้านายเมืองลำพูน ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเดียวกัน คือ นามสกุล “ธนัญชยานนท์” แก่เจ้าราชวงศ์ (หนานไชยเทพ หรือ บุญเป็ง) ราชบุตรของเจ้าขัติ เจ้าเมืองตากกับแม่เจ้าบัวเที่ยง

เจ้าขัติ (พระยาวิชิตชลธี) เป็นราชบุตรของพระเจ้าบุญมา เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 2 ในช่วงเวลานั้นหัวเมืองล้านนามีเมืองในปกครองทางทิศใต้ได้แก่ เมืองเถิน เมืองตาก เดิมเป็นหัวเมืองใหญ่อยู่บริเวณชายแดนพม่า เจ้านายฝ่ายเหนือล้านนาเกรงว่าพวกพม่าจะเข้ากลับเข้ามายึดครองจึงได้ส่ง เจ้าขัติ ไปปกครอง ซึ่งต่อมาหนานไชยเทพ หรือ บุญเป็ง ราชบุตรได้เป็นเจ้าราชวงศ์เมืองลำพูน สมรสกับเจ้าแม่คำแสน มีบุตรธิดารวม 5 คน คือ เจ้าน้อยธนัญไชย (เจ้าน้อยตุ้ย) เจ้าน้อยจักรแก้ว เจ้าน้อยไชยวงศ์ (เจ้าอุตรการโกศล) เจ้าแม่ไฮคำและเจ้าแม่จอมนวล

ส่วนนามสกุล “ลังกาพินธุ์” สืบเชื้อสายมาจากเจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 8 และนามสกุล “วงศ์ดาราวรรณ” สืบเชื้อสายมาจาก เจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 7 ถือได้ว่าเป็นนามสกุลของเชื้อเจ้าในลำพูนอีกนามสกุลหนึ่ง

นามสกุลพระราชทาน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานนามสกุลแก่เจ้านายฝ่ายเหนือที่กระทำคุณงามความดีแก่บ้านเมืองเพื่อให้มีเกียรติและเป็นศรีแก่สกุลวงศ์ ได้แก่

ประกาศเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2456

ณ ลำพูน เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (น้อยจักรคำ)
ธนัญชยานนท์ เจ้าราชวงศ์ (บุญเป็ง)
ตุงคนาคร เจ้าราชภาติกวงศ์ (น้อยดวงทิพย์)

ประกาศเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2457

ณ เชียงใหม่ เจ้าแก้วนวรัฐ (เจ้าแก้ว)
ณ น่าน พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (สุริย)
ณ ลำปาง เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต (บุญทวงศ์)
พรหมวงศ์นันท์ เจ้าไชยสงคราม (มธุรศ)
มหาวงศ์นันท์ เจ้าวรญาติ (เทพรส)
มหายศนันท์ เจ้าอุตรการโกศล (มหาชัย)

ประกาศเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2457
จันทรปัญญา หลวงขจัดจัณทนิกร (ใหม่แก้ว)

ประกาศเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2457
จิตตางกูร พระยาจิตสวงษ์วรยศรังศี (น้อยจิตวงศ์)

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น