เตือนโรคฤดูร้อนอย่างเพียบ สสจ.แจง ปชช.ต้องดูแลตัวเอง

สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ เตือนช่วงหน้าร้อนนี้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังการเจ็บป่วยด้วยโรคที่มักเกิดในช่วงฤดูร้อน ซึ่งจะพบโรคต่างๆบางโรคได้บ่อยกว่าฤดูอื่น เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ บิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อย หรือไทฟอยด์ รวมทั้งโรคติดต่อจาก สัตว์สู่คน เช่น โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เป็นต้น

ร้อยเอก ภูรีวรรธน์ โชคเกิด นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูร้อน เชื้อโรคเจริญเติบโตเร็ว อาจเกิดการระบาดของโรคติดต่อหลายชนิด แนะนำประชาชนระมัดระวังความสะอาดของน้ำและอาหารมากขึ้น โดย ขอให้ประชาชนยึดหลักง่ายๆ คือ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ส่วนผู้ที่เลี้ยงสุนัขและแมวต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เป็นประจำทุกปี

จากรายงาน เฝ้าระวังโรคทางระบาดวิทยา ฝ่ายควบคุมโรคและป้องกันโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ ในช่วง เดือน ม.ค. – มี.ค. 2560 พบว่า ประชาชนป่วยด้วย โรคอุจจาระร่วงมากที่สุด จำนวน 5,585 ราย นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จำนวน 928 ราย ไทฟอยด์ จำนวน 5 ราย และ โรคบิด จำนวน 54 ราย ทุกโรคที่กล่าวมานี้ ล้วนแต่เป็นโรคที่ติดต่อทางน้ำและอาหารที่เรารับประทานทั้งสิ้น

อาการที่จะสังเกตได้ว่าเป็นโรคอุจจาระร่วง คือ ถ่ายอุจจาระเหลวหรือมีมูกเลือดปน การถ่ายอุจจาระหลายๆ ครั้ง ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการช็อคและเสียชีวิตได้ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วง โดยระมัดระวังในเรื่อง ความสะอาดของอาหาร ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่มื้อต่อมื้อ อาหารที่เหลือจากการบริโภค ควรเก็บในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนทั่วถึง ก่อนนำมารับประทานอีก สำหรับการบริโภคน้ำดื่ม ขอแนะนำให้ดื่มน้ำต้มสุก การบริโภคน้ำแข็ง ควรเลือกซื้อน้ำแข็งหลอด ที่มีภาชนะปกปิดสะอาด ไม่ควรนำน้ำแข็งที่แช่รวมกับอาหารอื่นมารับประทาน

นอกจากนี้ ขอย้ำให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ก่อนรับประทานอาหารและภายหลังการขับถ่าย “ล้างมือทุกครั้ง หยุดยั้งเชื้อโรค” ควรกำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหาร ในบ้านและบริเวณบ้าน ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์หรือแมลงนำโรค รวมทั้งควรใช้ส้วมที่สะอาดถูกสุขลักษณะ หากพบว่า คนในบ้านเจ็บป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง ควรรักษาเบื้องต้น ด้วยการดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือ น้ำข้าว ข้าวต้ม หรือน้ำแกงจืด โดยกินทีละน้อยแต่บ่อยๆ หรือกินทุกครั้งที่ถ่ายเหลว ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง และถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

ส่วนโรคติดต่อที่มักเกิดในฤดูร้อนอีกโรคหนึ่ง คือ โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ โรคนี้ยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยเมื่อมีอาการ มักเสียชีวิตทุกราย ในช่วงหน้าร้อน สำหรับปี 2560 จ.เชียงใหม่ ไม่พบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า โรคนี้ติดต่อจากการถูกสัตว์ ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผลอยู่แล้ว หรือน้ำลายของสัตว์กระเด็นเข้าตา ปาก จมูก หลังจากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 4 เดือน หรือบางรายอาจเร็วเพียง 4 วัน หรือนานเป็นปี จึงจะมีอาการ อาการจะปรากฏเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่เข้าไป

เช่น หากถูกกัด บาดแผลใหญ่ ลึก ทำให้เชื้อเข้าไปได้มาก และขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เชื้อเข้า ถ้าบริเวณนั้นมีปลายประสาทมาก จะอันตราย เพราะเชื้อมีโอกาสเข้าสู่ระบบประสาท ถ้าอยู่ใกล้สมองมาก เชื้อจะเข้าไปถึงสมองได้เร็ว อาการจะปรากฏได้เร็ว การปฏิบัติตนเมื่อถูกสุนัขกัด ต้องล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่ กักขังสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน ให้พบแพทย์ หรือ จนท. สาธารณสุข เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ถูกต้อง นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงใหม่กล่าวในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น