ตามรอย “ครูบาวงศ์” นักบุญของชาวเขา ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ลำพูน

หากใครที่มีโอกาสเดินทางไปเยือนเมืองลี้ อำเภอปลายสุดด้านทิศใต้ของจังหวัดลำพูนที่มีอาณาเขตติดกับอำเภอเถินจังหวัดลำปาง อยากให้เข้าไปนมัสการครูบาชัยยะวงศา พระนักพัฒนาของชาวเขาและชมความสวยงามของสถาปัตยกรรมล้านนาผสมพม่าที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ซึ่งเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของชาวอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

นานนับหลายปีที่เมืองลี้ซุกซ่อนตัวเองมาเนิ่นนาน กระทั่งเมื่อ 20 ปีก่อนทางราชการได้มีการสร้างและขยายหนทางทำให้การเดินทางเข้าสู่ดินแดนอันเงียบสงบเมืองนี้สะดวกและรวดเร็วกว่าเดิม ผมเองแม้จะเดินทางไปเยือนเมืองแห่งนี้แทบจะนับครั้งได้ ทว่าการได้เข้าไปสัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมของคนภูเขาที่บ้านห้วยต้ม อาการราวเด็กน้อยได้ขนมหวานมักจะเกิดขึ้นกับผมเสมอ

บ้านห้วยต้มเป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าปกาเญอะหรือกะเหรี่ยงทั้งหมด 600 หลังคาเรือนมีคนอาศัยอยู่เกือบ 3,000 คนซึ่งพวกเขาได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านห้วยต้มเมื่อปี 2514 หลังจากที่ทางราชการได้มีการสร้างเขื่อนยันฮีหรือเขื่อนภูมิพลขึ้น ชาวเขาเหล่านี้ไม่มีที่ทำกิน การอพยพเข้ามาอยู่ในระยะแรกมีความยากลำบากมากเพราะพื้นที่บางส่วนเป็นหินศิลาแลงและสภาพทั่วไปมีความแห้งแล้ง ชาวกะเหรี่ยงบางคนไม่สามารถทนอยู่ได้ต้องอพยพไปอยู่ในที่ใหม่ พวกที่ทนอยู่ได้ก็ตั้งหน้าทำงานต่อสู้กับอุปสรรคอันแห้งแล้งของธรรมชาติ

ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครูบาวงศ์” ท่านเป็นผู้หนึ่งซึ่งมีส่วนสำคัญในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านห้วยต้ม นอกจากนั้นท่านยังเป็นพระนักพัฒนาและนักก่อสร้างอีกด้วย ชีวิตในวัยเยาว์ของท่านมีความลำบากยากแค้น ท่านเคยเล่าว่าเมื่อายุประมาณ 3 ขวบท่านชอบเอาดินมาปั้นแต่งเป็นบ้าน ปั้นวัว ปั้นควายและพระพุทธรูป เอาข้าวเปลือกมตบแต่งเป็นพระเนตรแล้วก็กราบไหว้เอง จนเมื่อายุได้ประมาณ 6 ปีพอที่จะช่วยโยมพ่อทำงานได้ มีอยู่ครั้งหนึ่งโยมพ่อพาลูก ๆ ออกไปทำไร่ โยมแม่ได้นำอาหารกลางวันมาส่งให้ หลังจากที่กินอาหารเรียบร้อยแล้วโยมพ่อจึงอบรมสั่งสอนลูก ๆ ว่า “ตอนนี้พ่อแม่ก็อดลูกทุกคนก็อดแต่ทุกคนอย่าท้อแท้ใจ ค่อยทำบุญไปเรื่อย ๆ บุญมีภายหน้าก็จะสบาย”

เมื่อท่านอายุได้ 13 ปีจึงได้บวชเป็นสามเณรกับครูชัยลังกา ตอนบวชเป็นสามเณรท่านมีควมขยันหมั่นเพียรและเคารพครูบาอาจารย์เป็นที่สุด จนเพื่อนที่บวชด้วยกันเกิดความไม่พอใจพากันกลั่นแกล้ง กระทั่งเมื่อหลวงพ่ออายุได้ 20 ปีจึงได้อุปสมบทโดยมีครูบาพรหมจักรเป็นพระอุปัชฌาย์และออกเดินธุดงค์ไปบำเพ็ญสมณธรรมกับท่านเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นท่านก็ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ท่านได้บุกเบิกปฏิสังขรณ์และก่อสร้างถาวรวัตถุหลายอย่าง อาทิ วิหารครอบรอยพระพุทธบาท พระเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปจำนวนกว่า 8 หมื่น 4 พันองค์ โดยเฉพาะวิหารครอบรอยพระพุทธบาทใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 34 ปี

ความเป็นมาของวัดพระพุทธบาทห้วยต้มซึ่งเรียบเรียงโดย นันทวัน กล่าวถึงเมื่อครั้งพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ในที่ต่าง ๆ ครั้งหนึ่งพระองค์ได้เสด็จมาถึงดงไม้ตาลแล้วขึ้นประทับบนจอมดอยแห่งหนึ่ง เรียกว่า “ดอยนางพี่” ได้ประทานพระเกศาธาตุ 1 เส้นให้พวกละว้าที่มาเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นบรรจุไว้ในพระเจดีย์ ต่อมาเรียกว่า “ดอยนางนอนจอมแจ้ง” (เพราะเสด็จมาถึงที่นั่นตอนรุ่งเช้า) ต่อมามีพญาเมืองเถิน พ่อฤาษีและหมอพรานอีก 8 คนหาบเนื้อสดเดินมาพบเข้าไม่มีอะไรจะถวายจึงเอาเนื้อมาถวาย พระพุทธองค์ก็ไม่ฉันพวกพรานจึงเอาเนื้อไปกองรวมกันไว้ พวกละว้าที่อยู่ในบริเวณนั้นจึงไปต้มข้าวมาถวาย สมเด็จพระจอมไตรจึงทรงรับมาฉันและให้ศีลให้พรพวกละว้า พระพุทธองค์จึงทรงประทับรอยพระบาทไว้และทรงรับสั่งว่า “ถ้าผู้ใดปฏิบัติได้ตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนก็เหมือนอยู่ใกล้ ถ้าไม่ปฏิบัติก็เหมือนอยู่ไกล” จากนั้นจึงทรงประทานนามที่นั่นว่า “ห้วยต้มข้าว” ต่อมาเรียกเพี้ยนมาเป็น “ห้วยต้ม” ซึ่งเป็นชื่อวัดพระพุทธบาทห้วยต้มในปัจจุบัน

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นวัดที่มีความสวยงามทางด้านศิลปกรรมแบบผสมระหว่างล้านนากับพม่า โดยเฉพาะพระธาตุเจดีย์ทรงแหลมเรียวรายล้อมด้วยเจดีย์ขนาดเล็กอีก 16 องค์ ภายในศาลารอบองค์พระธาตุเจดีย์จะมีรูปปั้นของเกจิอาจารย์ชื่อดังของประเทศกว่า 30 องค์ และภายในศาลาหลังใหญ่ยังเป็นที่ตั้งศพของครูบาชัยยะวงศาพัฒนาบรรจุในโลงแก้วให้ศรัทธาประชาชนได้กราบไหว้ นอกจากนั้นในบริเวณด้านเหนือของวัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าเก้าตื้อจำลองซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระมณฑป ได้จัดให้มีพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2544

พระเจ้าเก้าตื้อที่ประดิษฐานอยู่ในพระมณฑปวัดพระบาทห้วยต้ม ได้จำลองมาจากพระเจ้าเก้าตื้อในอุโบสถวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยฝีมือสกุลช่างเชียงแสนผสมสุโขทัยหน้าตักกว้างประมาณ 120 นิ้ว ว่ากันว่าพระเจ้าเก้าตื้อองค์จริงที่วัดสวนดอกสร้างขึ้นในสมัยของพระยารัตนเมืองแก้ว เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ.2038-2068) อันนับเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองไพบูลย์ของศาสนาในเชียงใหม่มากที่สุด พระเจ้าเก้าตื้อองค์นี้นับเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามได้สัดส่วน และเนื่องด้วยที่พระองค์นี้มีน้ำหนัก 9 ตื้อ ซึ่งเป็นมาตราชั่งของคนล้านนา ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกกันต่อมาว่า “พระเจ้าเก้าตื้อ”

เมื่อครั้งที่ครูบาวงศ์ ได้สร้างมณฑปขึ้นที่วัดพระบาทห้วยต้ม ท่านได้ให้ช่างปูนปั้นจำลองแบบพระเจ้าเก้าตื้อมาจากองค์จริงที่ประดิษฐาน ณ วัดสวนดอก พร้อมกับได้กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เสด็จมาเป็นองค์ประธานทำพิธีเททอง

ความรุ่งเรืองแห่งพุทธศาสนาในแผ่นดินลี้ยังแผ่ขยายปกคลุมให้ชนชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นด้วย ปัจจุบันมีชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยต้มจำนวนมากเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาและเชื่อฟังคำสั่งสอนของครูบาวงศ์ ทุก ๆ วันพวกเขาจะไม่ทานเนื้อสัตว์และจะเคร่งครัดยึดมั่นในศีล จะเห็นได้จากที่เวลาชาวบ้านไปทำบุญที่วัดมักจะถอดรองเท้าไว้ตั้งแต่ที่หน้าประตูวัด ซึ่งภาพเช่นนี้มีให้พบเห็นไม่บ่อยนักหากไม่นับรวมกับความศรัทธาของชาวไทใหญ่แห่งพม่าที่ยังคงยึดถือปฏิบัติความเชื่อเช่นนี้เหมือนกัน

การเดินทางไปยังวัดพระพุทธบาทห้วยต้มใช้เส้นทางสายลำพูน – ลี้ระยะทางประมาณ 108 กิโลเมตรจะมีทางแยกขวามือเข้าสู่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มอีกประมาณ 8 กิโลเมตร สำหรับศรัทธาประชาชนต้องการไปกราบไหว้พระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัย รอยพระพุทธบาทจำลอง พระเจ้าเก้าตื้อที่งดงามที่สุด รวมถึงเคารพศพครูบาวงศ์ที่บรรจุอยู่ในโลงแก้ว สามารถเดินทางได้ตามเส้นทางดังกล่าว.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น