รถไฟเด่นชัย-เชียงราย ส่อแววเจอโรคเลื่อนต่อ

ภาคเอกชนเมืองพ่อขุน หวั่นโครงการรถไฟเด่นชัย-เชียงราย เจอโรคเลื่อน มีแววเลื่อนการก่อสร้างไปเป็นปี 2564 หลังต้องมีการศึกษาอีไอเอเพิ่มเติม เนื่องจากเส้นทางผ่านพื้นที่ป่าเขา เชื่อจะกระทบความเชื่อมั่นการลงทุนแน่นอน

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงโครงการรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย ระหว่างเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่เชียงรายเมื่อเร็วๆ นี้ว่า อาจต้องเลื่อนการก่อสร้างไปเป็นปี 2564 แทน เพราะยังต้องมีการศึกษาอีไอเอเพิ่มเติม เนื่องจากเส้นทางผ่านพื้นที่ป่าเขา แต่ต้องสร้างทางรถไฟสายนี้แน่นอน เพราะได้มีการออกแบบโครงการเอาไว้อยู่แล้ว

แม้แต่สถานีเปลี่ยนถ่ายหัวลากที่ อ.เชียงของ เพื่อจะเชื่อมกับ สปป.ลาว ที่อาจใช้รางต่างกัน ตนก็แจ้งให้เปลี่ยนแบบ โดยให้ลางรถไฟเข้าไปถึงในสถานี แทนที่จะจอดอยู่ด้านนอกเพื่อความรวดเร็วและสะดวก

น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ตนยังไม่ได้รับแจ้งเรื่องการเลื่อนสร้างทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย อย่างเป็นทางการ ล่าสุดระหว่างเป็นตัวแทนหอการค้าฯ เข้าประชุมให้ข้อมูลโครงการนี้กับคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รัฐบาล รวมถึง ร.ฟ.ท.ก็เคยยืนยันว่าจะก่อสร้างตั้งแต่ปลายปี 2560 เป็นต้นไป แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ร.ฟ.ท.ไปเมื่อเร็วๆ นี้ก็ตาม

น.ส.ผกายมาศกล่าวว่า รถไฟเด่นชัย-เชียงราย จะเป็นผลดีต่อการคมนาคมทั้งภายในประเทศ และเชื่อมสู่จีนตอนใต้ ซึ่งจีนจะสร้างเส้นทางเข้าไปใน สปป.ลาว ขนานมากับถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-มณฑลยูนนาน แต่เส้นทางรถไฟจะเลี้ยวเข้าตอนในของ สปป.ลาว ตรงแยกนาเตย แขวงหลวงน้ำทา

แต่ถ้าเราก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-อ.เชียงของ ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 ขนานไปกับถนนอาร์สามเอ ก็จะทำให้จีนหันมาพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงกันได้ และโครงการสร้างการเปลี่ยนถ่ายหัวลากหรืออื่นๆ ก็จะเดินหน้าทำให้เศรษฐกิจการค้า และอื่นๆ พัฒนาได้ตามลำดับ

“หากจะดึงดูดการลงทุนเราจะต้องมีความชัดเจน กรณีของเส้นทางรถไฟก็เช่นกันหากต้องเลื่อนออกไปหลายปีแล้วจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนหรือไม่”

รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อสังเกตเช่นกันว่าโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศจะดำเนินการก็ยังไม่มีโครงการรถไฟเด่นชัย-เชียงราย อยู่ในแผน ซึ่งต้องติดตามข้อมูลดูก่อน แต่ตนยังไม่เห็นเหตุผลในการจะเลื่อนโครงการออกไปอีก เพราะหลายฝ่ายเรียกร้องมานาน แม้แต่การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ก็ได้ดำเนินการเสร็จแล้วด้วย

สำหรับโครงการรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย เป็นโครงการที่มีการศึกษา เพื่อจะก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2503 หรือกว่า 57 ปีแล้ว มีการใช้งบประมาณว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาไปแล้วหลายร้อยล้านบาท กระทั่ง ร.ฟ.ท.ได้ออกแบบโครงการชุดล่าสุดแล้วเสร็จเมื่อปี 2559 โดยมีรายละเอียดโครงการคร่าวๆ คือ มีระยะทางเริ่มต้นจากสถานีเด่นชัย ผ่าน 17 อำเภอใน จ.แพร่ จ.พะเยา เข้ามาทาง อ.ป่าแดด จ.เชียงราย ปลายทาง อ.เชียงของ รวม 323 กิโลเมตร มี 26 สถานี ภายใต้งบประมาณทั้งหมด 76,980 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร อดีตผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.เคยประกาศที่ จ.เชียงรายว่าจะผลักดันให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพื่อจะก่อสร้างในปี 2560 ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวหลังประชุมคณะกรรมการภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ส่วนกลาง และคณะกรรมการ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ก็ยืนยันในทำนองเดียวกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น