แนะเกษตรกรรับแล้ง ปลูกพืชผักใช้น้ำน้อย

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เนื่องจากน้ำต้นทุนมีจำกัด เกษตรกรผู้ปลูกพืชทั่วประเทศจำเป็นต้องช่วยกันประหยัดในการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ควรปลูกพืชเศรษฐกิจอายุสั้นใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าวนาปรัง การปลูกพืชใช้น้ำน้อยเป็นช่องทางทำให้มีน้ำเพียงพอสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกตลอดช่วงฤดูแล้ง ลดปัญหาการแย่งชิงน้ำ และภัยแล้ง

ทั้งนี้ในการปลูกพืชใช้น้ำน้อยในแต่ละพื้นที่ เกษตรกรไม่ควรปลูกพืชชนิดเดียวกันมากๆ เพราะอาจมีปัญหาด้านการตลาดและราคาตกต่ำ และการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชได้ ควรพิจารณาสภาพพื้นที่และช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด พิจารณาภาวะตลาด ราคาผลผลิต และแหล่งรับซื้อด้วย หากเกษตรกรทุกพื้นที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานต่างๆที่เร่งรณรงค์ ทำความเข้าใจตามภารกิจ ความรับผิดชอบ ปัญหาการขาดแคลนน้ำช่วงแล้งนี้ก็จะไม่เกิด

ด้าน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เพื่อรับมือกับการขาดแคลนน้ำช่วงแล้ง กรมฯได้เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่คำแนะนำการปลูกและดูแลรักษาพืชช่วงน้ำน้อยแล้วหันมาทำกิจกรรมการเกษตรอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าวนาปรังมาปลูกพืชอายุสั้นอาทิ คะน้า ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาวและผักอื่นทดแทนซึ่งพืชชนิดดังกว่าเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ควรปลูกพืชผักที่มีระบบรากตื้นและปลูกได้โดยง่าย เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นทนทานต่อสภาพอากาศร้อนและใช้น้ำน้อยโดยอาจใช้ระบบมินิสปริงเกอร์ ระบบน้ำหยดหรือรดเป็นจุดๆเพื่อลดปริมาณการสูญเสียน้ำได้มากกว่าให้ปล่อยแบบไปตามท้องร่อง

หากพื้นที่ปลูกน้ำขาดน้ำหรือว่าประสบภัยรุนแรงควรชะลอการปลูกพืชในฤดูกาลใหม่ออกไปก่อนหากเกษตรกรมีปัญหาหรือมีข้อสงสัยสามารถติดต่อไปยังสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านได้ทุกแห่ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น