วัดต้นแกว๋น…วัดเก่าร้อยปีล้านนา

“ต้นแกว๋น” เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งตามภาษาพื้นเมืองล้านนา ซึ่งแต่เดิมนั้นมีปลูกอยู่ในบริเวณวัดเป็นจำนวนมาก ดังนั้นชาวบ้านจึงพากันเรียกชื่อวัดว่า “วัดต้นแกว๋น” แต่ปัจจุบันต้นแกว๋นที่ปลูกอยู่ในบริเวณวัดแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว เหลืออยู่เพียงต้นเดียวเท่านั้น ต่อมาวัดต้นแกว๋นได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดอินทราวาส” ซึ่งมาจากชื่อของเจ้าอาวาสที่สร้างวัดนี้ คือ อินทร์ผสมกับอาวาส

เมืองเชียงใหม่หรือนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ได้ชื่อเป็นเมืองศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะในเมืองเชียงใหม่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาที่สำคัญยิ่งของล้านนา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ดังปรากฏหลักฐานสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ว่า เคยมีการสังคยนาพระไตรปิฏกขึ้นเป็นครั้งที่ 8 ของโลกและเป็นครั้งแรกในดินแดนสยาม

ความรุ่งเรืองแห่งพุทธศาสนาดังกล่าวยังดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะไปทางไหนก็มักจะพบเห็นวัดอยู่เกือบทั่วทุกพื้นที่ของเมือง จนมีคำกล่าวถึงวัดต่าง ๆที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ว่า “วัดในเมืองเชียงใหม่นั้นมีมากมายให้พบเห็นชนิดวัดชนวัด” ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือตามหมู่บ้านชนบทเราก็สามารถพบเห็นวัดได้ทั้งนั้น

ที่อำเภอหางดง มีวัดเก่าแก่ที่สำคัญวัดหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันอาจเรียกได้ว่ามีความสวยงามและสมบูรณ์ทางสถาปัตยกรรมล้านนามากที่สุดวัดหนึ่งของเชียงใหม่ก็ว่าได้

ความเงียบสงบและสง่างามของวัดต้นแกว๋น ทำให้เรานึกย้อนถึงอดีตของวัดในชนบทที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่สำคัญในการเป็นจุดพักขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุจากวัดพระธาตุจอมทอง อำเภอจอมทองเพื่อไปยังเมืองเชียงใหม่ แม้ว่าปัจจุบันการเดินทางจากวัดพระธาตุจอมทองจะสะดวกรวดเร็วขึ้น ทำให้ขบวนแห่ไม่ต้องหยุดพักค้างแรมที่นี่เหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ศาสนสถานต่าง ๆ ที่เคยใช้ในพิธีดังกล่าวยังคงหลงเหลือปรากฏให้เห็นอยู่ ทำให้เรามองย้อนไปถึงอดีตของวัดนี้ที่เคยมีความสำคัญต่อพิธีดังกล่าว

วัดต้นแกว๋นแทบจะเป็นวัดเดียวในล้านนาก็ว่าได้ที่มีการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมสมัยเก่าเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ต้นตาลนับสิบต้นยืนเรียงรายอยู่นอกกำแพงวัด ทำให้ดูเคร่งครึมสมกับเป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญวัดหนึ่งของเชียงใหม่ วัดต้นแกว๋น หรือ วัดอินทราวาส สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์เป็นเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่เมื่อประมาณ จ.ศ.1218-1231 หรือ พ.ศ.2399-2412 คำว่า “ต้นแกว๋น” เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งตามภาษาพื้นเมืองล้านนา ซึ่งแต่เดิมนั้นมีปลูกอยู่ในบริเวณวัดเป็นจำนวนมาก ดังนั้นชาวบ้านจึงพากันเรียกชื่อวัดว่า “วัดต้นแกว๋น” แต่ปัจจุบันต้นแกว๋นที่ปลูกอยู่ในบริเวณวัดแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว เหลืออยู่เพียงต้นเดียวเท่านั้น ต่อมาวัดต้นแกว๋นได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดอินทราวาส” ซึ่งมาจากชื่อของเจ้าอาวาสที่สร้างวัดนี้ คือ อินทร์ผสมกับอาวาส

ความสำคัญของวัดต้นแกว๋นในสมัยก่อนเป็นสถานที่พักกระบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุจากวัดพระธาตุจอมทองเข้ามายังเมืองเชียงใหม่ซึ่งถือเป็นประเพณีเก่าแก่ของเจ้าหลวงเชียงใหม่ วัดต้นแกว๋นแห่งนี้อยู่ในเส้นทางสายเดิมที่กระบวนแห่จะต้องหยุดพัก เพราะในอดีตการเดินทางเข้ามายังเมืองเชียงใหม่นั้นค่อนข้างลำบากถนนหนทางยังไม่เจริญเท่าปัจจุบัน ขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุจะต้องหยุดพักประดิษฐานที่ศาลาจตุรมุขเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อให้ศรัทธาประชาชนได้สักการะบูชาสรงน้ำสมโภช ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังเมืองเชียงใหม่ แม้ว่าปัจจุบันขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุจะไม่ได้หยุดพักที่วัดนี้แล้วก็ตาม แต่ภายในวัดยังหลงเหลือสิ่งปลูกสร้างที่เคยใช้เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุอยู่ ทั้งศาลาจตุรมุข, รินรองน้ำสรงหรือแม้แต่กลองปู่จ่า

ความสวยงามและเก่าแก่กว่าร้อยปีของสถาปัตยกรรมในวัดต้นแกว๋นเรียกได้ว่างดงามไม่แพ้ที่ใด การอนุรักษ์และบูรณะสถาปัตยกรรมได้รับการซ่อมแซมอยู่เสมอมา โดยเฉพาะตัววิหารของวัดต้นแกว๋นยังคงปรากฏลวดลายทางสถาปัตยกรรมที่ชัดเจนมากที่สุดแห่งหนึ่ง วิหารวัดต้นแกว๋นนี้สร้างขึ้นเมื่อ จ.ศ.1220 หรือประมาณปี พ.ศ.2401 ซึ่งได้มีการบันทึกไว้ที่ใต้เพดานด้านเหนือด้วยตัวอักษรไทยวนหรือตัวเมืองล้านนา นายช่างผู้สร้างวิหารมีความชำนาญสามารถสลักลวดลายดอกไม้ ลายรูปสัตว์ไว้ที่หน้าจั่วและช่อฟ้า พระประธานเป็นลายรูปปั้นดอกกูด ฝาผนังด้านหลังพระประธานในวิหารมีรูปคล้ายซุ้มและมีพระพิมพ์โลหะซึ่งหล่อเป็นองค์ติดฝาผนัง

มณฑปแบบจตุรมุข เป็นศิลปกรรมแบบล้านนา ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุชั่วคราวสร้างด้วยไม้ มุงกระเบื้องขอดินเผาแบบสมัยล้านนาโบราณ บนหลังคามีช่อฟ้าและหงส์ประดับอยู่เหนือราวหลังคา ที่มุมของสันหลังคามีการปั้นรูปยักษ์ไว้ที่เหลี่ยมเสา ปัจจุบันมีร่องรอยปรากฏที่ชัดเจนมาก ในวัดยังมีเครื่องประกอบพิธีในการสรงน้ำพระบรมธาตุ รวมทั้งมีอาสน์สำหรับตั้งโกศพระบรมธาตุ รินรองน้ำหรือสุคนสินธุธารา คือน้ำอบน้ำหอมที่ประชาชนนำมาสรงน้ำพระบรมธาตุ รวมทั้งเสลี่ยงสำหรับหามบั้งไฟหรือบอกไฟจุดบูชา ที่สมัยก่อนเรียกกันว่า “เขนัย” และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ กลองโยนหรือกลองปู่จ่า ใช้สำหรับตีในวันพระซึ่งจะได้ยินไปทั่วทั้งตำบลหนองควายเลยทีเดียว

ในปี พ.ศ.2531 สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ยกย่องให้กลุ่มสถาปัตยกรรมในวัดต้นแกว๋นแห่งนี้เป็น “อาคารอนุรักษ์ยอดเยี่ยม” นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชื่อเสียงของวัดต้นแกว๋นกลายเป็นที่รู้กันว่าเป็นวัดที่มีรูปแบบทางศิลปกรรมที่งดงามลงตัวอย่างยิ่ง

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น