ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มช. เปิดเสวนา วิเคราะห์อุบัติเหตุอุโมงค์ถล่ม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 เม.ย.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมปริญญา นุตาลัย ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มช. ผศ.ดร.มนูญ มาศนิยม หน.ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ พร้อมด้วย ดร.ธนู หาญพัฒนพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษา วิศวกรรมธรณีวิทยา กรมชลประทาน ดร.อรรถกิจ อาสาฬห์ประกิต รองประธานคณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมในประเทศ คณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ และ ดร.บูรพา แพจุ้ย หน.ภาควิชาธรณีวิทยา ได้ร่วมกันจัดเสวนา “บทเรียนจากอุโมงค์แม่งัด – แม่กวงถล่ม ประมาทหรือเหตุสุดวิสัย” โดยมีครอบครัวนักธรณีวิทยาที่เสียชีวิต นักธรณีวิทยาที่รอดจากเหตุการณ์ดังกล่าว และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังการเสวนาในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

โดยในการเสวนาที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ได้มีการพูดถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย และวิเคราะห์ถึงสาเหตุการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น รวมทั้งข้อผิดพลาดของการก่อสร้าง ซึ่งสืบเนื่องมาจากเหตุหินถล่มในอุโมงค์ผันน้ำแม่งัด-แม่กวง เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้นักธรณีวิทยา 2 ราย คือ นายปรัชญาวัต วสุอนันต์ และ นายปฐมพร ศิริวัฒน์ เสียชีวิตนั้น ตามกระแสข่าวที่ออกมา ใช้ข้อความว่าเป็นเหตุสุดวิสัย และนักธรณีวิทยาเข้าไปในอุโมงค์เร็วเกินไป รวมทั้งกล่าวอ้างถึงหน้าที่ของนักธรณีวิทยาว่า เป็นผู้ดูแลควบคุมการออกแบบค้ำยันและความปลอดภัยในการก่อสร้างอุโมงค์

ขณะเดียวกัน ความเป็นจริงนั้นจากการตรวจสอบจากภาพถ่าย ที่ได้ถ่ายไว้ตามแนวอุโมงค์ครั้งก่อนเกิดเหตุและหลังจากเกิดเหตุ แสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งที่เกิดการถล่มของหินลงมาทับนักธรณีวิทยาคือตำแหน่งที่ 635 เมตร ซึ่งอยู่ระหว่างการเจาะระเบิดไปแล้ว จำนวน 3 รอบ และรอบที่ 630 – 633 เมตร รอบที่ 633 – 636 เมตร และรอบที่ 636 – 639 เมตร ซึ่งตามการออกแบบที่ได้ระบุไว้ ว่าจะต้องได้รับการค้ำยันโดยใช้ตะแกรงเหล็ก ทำการค้ำยันโดยการพ่นคอนกรีตฉาบตามความหนาที่ระบุไว้ 10 ซม. แต่พบมีความหนาเพียงประมาณ 2-3 ซม.

สำหรับการค้ำยันโดยการติดตั้งแท่งเหล็กยึดนั้น พบว่ามีแท่งเหล็กยึด แต่ในจำนวนที่ไม่เท่ากับที่ระบุไว้ในแบบก่อสร้าง และที่สำคัญคือแท่งเหล็กยึดที่ทำการติดตั้ง จะไม่ได้เชื่อมประสานระหว่างแท่งเหล็กกับหิน รวมทั้งยังไม่ได้ทำการขันแผ่นเหล็กส่วนปลาย เพื่อให้ท่านผลิตเย็บติดกับหิน จึงนับได้ว่าเป็นการติดตั้งที่ไม่สมบูรณ์

ทางด้านคณะอาจารย์ ของภาควิชาธรณีวิทยาฯ พร้อมผู้เชี่ยวชาญทั้งการขุดเจาะอุโมงค์ การค้ำยัน ได้ออกมาจัดการเสวนา เพื่อเป็นการเรียกร้องให้ผู้เสียชีวิตทั้งสองได้รับความเป็นธรรม หลังมีการกล่าวอ้างว่า กรณีดังกล่าวเป็นการประมาทหรือเหตุสุดวิสัย ซึ่งมีการกล่าวว่านักธรณีวิทยาเป็นผู้ดูแลควบคุมการออกแบบค้ำยัน และความปลอดภัยในการก่อสร้างอุโมงค์ และนักธรณีวิทยาเข้าไปในอุโมงค์งานเร็วเกินไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว หน้าที่ของนักธรณีวิทยา ในงานก่อสร้างอุโมงค์ครั้งนี้ คือการทำแผนที่ทางธรณีวิทยาของหน้าตัดมุม ที่ระบุชนิดของมวลหินและการวางตัวของรอยแตก เพื่อนำข้อมูลส่งต่อให้กับวิศวกรติดตั้งระบบค้ำยัน และทำการระเบิดในครั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม การกล่าวอ้างว่านักธรณีวิทยาเข้าไปในอุโมงค์เร็วเกินไปนั้น จึงไม่เป็นความจริง แต่สิ่งที่ควรจะหาคำตอบคือ ใครเป็นผู้อนุญาตให้เข้าไปปฏิบัติงาน ควรมีวิศวกรที่มีประสบการณ์ด้านงานขุดเจาะอุโมงค์โดยใช้วัตถุระเบิด รวมทั้งนักธรณีที่มีประสบการณ์งานอุโมงค์มาทำงาน นอกเหนือจากนักธรณีผู้ช่วยที่จบมาใหม่ และวิศวกรด้านต่างๆ ตามที่กำหนดในมาตรฐานของงานก่อสร้างอุโมงค์ และในมาตรการความปลอดภัยถูกต้องครบถ้วนจริงหรือไม่

ทั้งนี้ทาง นางเพญจันทร์ วสุอนันต์ มาดาของ นายปรัชญาวัต วสุอนันต์ นักธรณีวิทยาผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ตามที่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ บอกว่าจะมอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 50,000 บาทนั้น ได้รับมาเพียง 15,000 บาท และเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ให้นิติกรเข้ามาเจรจา ที่ สภ.แม่แตง ว่าจะมอบเงินชดเชยให้เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท และจะได้เงินประกันชีวิตของผู้ตายอีกราวๆ 200,000-300,000 บาท ซึ่งทางครอบครัวรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม โดยทางสภาทนายความเชียงใหม่ ได้รับเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องคดี เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับผู้ตายทั้งสอง

ทาง นายธีระเพชร บุญธง อายุ 23 ปี นักธรณีวิทยาผู้อยู่ในเหตุการณ์ เล่าว่า ในวันเกิดเหตุ ตนได้เข้างานในช่วงเช้าเวลาประมาณ 07.00 น. ซึ่งขณะนั้นได้พบว่า นายปฐมพร ผู้เสียชีวิต อยู่กับเจ้าหน้าที่วิศวกรและเจ้าของบริษัทอิตาเลี่ยนฯ ซึ่งกำลังพูดคุยกันเกี่ยวกับอุโมงค์ที่ได้มีการเปิดใหม่ ซึ่งขณะนั้นทาง นายปฐมพร ก็ได้ชี้ให้ตนเห็นจุดที่เกิดรอยร้าวแล้ว ตนก็ได้พุดคุยกับทาง นายปฐมพร ว่ากลัวรอยร้าวดังกล่าวจะถล่มลงมา และหลังจากพูดคุยกันเสร็จก็ได้ออกไปอุโมงค์อีกฝั่งที่อยู่ฝั่งซ้าย

ต่อมาเวลาประมาณ 08.00 น. นายปรัชญาวัต ก็ได้มาเข้างาน ตนและผู้เสียชีวิต รวมทั้งหมด 3 คน ได้เดินเข้าไปทำการสำรวจจุดบริเวณด้านหน้าที่เปิดใหม่ โดยตอนไปถึงตนได้ชี้ให้ นายปรัชญาวัต ดูว่ามีจุดร้าว แต่ นายปรัชญาวัต ได้ระบุว่ามีการใส่ล็อคโวลต์แล้ว แต่ทางตนก็แนะนำให้เอาออกก่อน เพราะเกรงว่าผนังเพดานจะตกลงมา และหลังจากพูดคุยกันด้วยความกังวลว่าจุดเกิดจะถล่มลงมา ตนได้เดินออกห่างจากจุดดังกล่าว ประมาณ 5 เมตร และระหว่างนั้นก็มีเศษหินร่วงลงมาขนาดก้อนเท่ามือถือ ก่อนที่มันจะถล่มลงมาอย่างรวดเร็ว ทับร่างทั้งสองคนจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตดังกล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น