เดินหน้าก้าวสู่ “สมาร์ทฟาร์มเมอร์”

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน ศพก. ในพื้นที่ 16 จังหวัด เจาะกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ 70 ราย เกษตรกรทั่วไป 364 ราย เผยเกษตรกรสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์จริงและตื่นตัวในการเข้ามาใช้บริการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรมากขึ้น สามารถพัฒนาไปสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ได้อย่างเต็มรูปแบบ ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต การลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และการเพิ่มรายได้

นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ สศก. ติดตามการดำเนินงานโครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเกษตรกรต้นแบบ 70 ราย และเกษตรกรทั่วไป 364 ราย ในพื้นที่ 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำพูน ลำปาง สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น สุรินทร์ ยโสธร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี และตราด ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

นางสาวรังษิต กล่าวต่อว่า ผลการติดตามในเบื้องต้นพบว่า เกษตรกรร้อยละ 53.85 ได้เข้ารับการอบรมจาก ศพก. แล้ว ซึ่งเกษตรกร ร้อยละ 45.83 ของเกษตรกรที่เข้ารับการอบรม มีการนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติ เช่น การทำปุ๋ยหมัก การตัดแต่งกิ่งไม้ผลเพื่อรอฤดูกาลผลิต และการปลูกพืชปุ๋ยสด เป็นต้น ส่วนเกษตรกรร้อยละ 54.17 ยังไม่ได้นำความรู้มาใช้ประโยชน์ เนื่องจากรอฤดูการผลิต และอยู่ระหว่างเตรียมวัสดุ/อุปกรณ์ต่างๆ โดยความรู้ที่คาดว่าจะนามาปฏิบัติ ได้แก่ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การทำปุ๋ยสั่งตัด และการทำปุ๋ยหมัก นอกจากนี้ พบว่า เกษตรกรมีการตื่นตัวในการเข้ามาใช้บริการใน ศพก. มากขึ้น เนื่องจากเคยได้เข้ารับการอบรมในปีที่ผ่านมา และมีการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการทำการเกษตรได้จริงทั้งในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต การลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และการเพิ่มรายได้

รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านเกษตรกรต้นแบบ ร้อยละ 81.82 มีแนวคิดเห็นว่าในการขับเคลื่อน ศพก. ควรอยู่ในรูปภาคี ระหว่างองค์กร/กลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานภาครัฐ เกษตรกรต้นแบบ เกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงสถาบันการศึกษาและเอกชน ซึ่งทุกภาคส่วนต้องมีความสามัคคี และพัฒนาไปในทิศทางที่ตรงต่อความต้องการของท้องถิ่น และต้องทาอย่างจริงจัง และภาครัฐต้องมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารจัดการ ศพก. ต้องมีความพร้อมและความเสียสละในการทำงานด้วย ส่วนแนวทางการพัฒนา ศพก. ควรจะมีการศึกษางานวิจัยใน ศพก. เพื่อให้เห็นผลจริงและนำไปขยายผลต่อยังเครือข่าย ควรให้ความสำคัญกับฐานเรียนรู้ ต้องพัฒนา/เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อกระตุ้นความสนใจของเกษตรกร อีกทั้งการจัดตั้ง ศพก. ทาไห้เกษตรกรต้นแบบมีแรงกระตุ้นในการหาความรู้เพิ่มเติม ขยายเครือข่ายด้านต่างๆ มากขึ้น เพื่อที่จะนำความรู้ต่างๆ มาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่มากที่สุด

ทั้งนี้ โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของชุมชน โดยมีเกษตรกรต้นแบบเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ และเป็นกลไกในการบูรณาการ การทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา และพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ ซึ่งในปี 2560 ได้ดาเนินการในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพของ ศพก. 882 ศูนย์ และศูนย์เครือข่าย ให้มีความพร้อมในการให้บริการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดแก่เกษตรกร รวมทั้งการให้บริการทางการเกษตรด้านต่าง ๆ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ นางสาวรังษิต กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น