สธ.สั่งห้าม-นำสุนัข-ชำแหละ มาประกอบอาหารรับประทาน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนไม่ควรนำสุนัขมาชำแหละเพื่อประกอบอาหารรับประทาน เพราะมีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้หากสุนัขเป็นโรคพิษสุนัขบ้า และเสี่ยงติดเชื้อตั้งแต่ขั้นตอนการชำแหละ พร้อมแนะประชาชนให้ใช้คาถา 5ย. ป้องกันการถูกกัด คือ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง”

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีข่าววัยรุ่นจำนวนหนึ่ง นำเนื้อสุนัขมาชำแหละเพื่อประกอบอาหารรับประทานกันในวงเหล้า และอีกกรณีที่มีชายสูงวัยซื้อสุนัขมาชำแหละเพื่อจำหน่ายเนื้อ นั้น กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนชนว่า การนำเนื้อสุนัขมาประกอบอาหารรับประทานกันเอง มีโอกาสเสี่ยงจะติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้หากสุนัขเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ที่สำคัญเสี่ยงติดเชื้อตั้งแต่ขั้นตอนการชำแหละ เพราะการชำแหละจะเป็นการสัมผัสกับสัตว์โดยตรง โดยเฉพาะสุนัขหรือแมวที่ป่วยหรือตาย ไม่ควรนำเนื้อมาประกอบอาหารรับประทานเด็ดขาด เพราะเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อและอาจเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ หรือแม้แต่สงสัยว่าติดเชื้อโรคก็ไม่ควรนำมารับประทานเช่นกัน

ที่สำคัญโรคพิษสุนัขบ้า นั้น ผู้ติดเชื้อและแสดงอาการแล้วจะเสียชีวิตทุกราย ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการถูกสุนัขหรือแมวกัด-ข่วน แล้วไม่ได้รักษาหรือเข้ารับฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง ดังนั้นหากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยว่าเป็นโรคกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล ควรรีบปฐมพยาบาล ล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่หลายๆครั้ง แล้วเช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีน ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน จากนั้นไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า โอกาสที่คนจะติดเชื้อหลังถูกสัตว์ที่ป่วยหรือมีเชื้อโรคกัดหรือข่วน ขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อโรคที่เข้าไปในร่างกาย สายพันธุ์ของเชื้อ รวมถึงตำแหน่งที่ถูกกัด สำหรับระยะฟักตัวของโรคนั้นมีตั้งแต่ 1 สัปดาห์หรืออาจนานเกิน 1 ปี ส่วนอาการของโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มจาก 2-3 วันแรกผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผลและลำตัว ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ กล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด

สำหรับมาตรการสำคัญในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า กรมควบคุมโรคได้ระบุให้โรคพิษสุนัขบ้าเป็นหนึ่งในโรคที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ. 2558 หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบทันที ส่วนการป้องกันโรคมี 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1.ก่อนถูกกัด ใช้หลักการคาถา 5 ย. ป้องกันการถูกกัด ได้แก่“อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัขหรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ 2.กรณีถูกกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสม รวมถึงกักขังสัตว์ที่กัดสังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์ตัวนั้นมีอาการปกติแสดงว่าไม่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า แต่หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งกรมปศุสัตว์หรือสถานเสาวภาเพื่อส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ และ 3.หลังจากถูกกัด ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องครบชุดตามเวลาที่แพทย์นัด หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ร่วมแสดงความคิดเห็น