ปศุสัตว์-ชุดคุมโรค เฝ้าระวังไข้หวัดนก

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเชียงใหม่ แจ้งเตือนว่า กรณีมีรายงานข่าวการระบาดของโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในบางประเทศเพื่อนบ้านของไทยด้วยนั้น แม้ประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ทว่ายังมีรายงานบางพื้นที่พบสัตว์ปีกตายอย่างประปราย จึงต้องดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง


ทั้งนี้ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก จากการเดินทางของผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด การอพยพของนกบางชนิด และการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกบริเวณแนวชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้านและภายในประเทศ เช่น ไก่ชน เป็ดไล่ทุ่ง เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ H5N1 รายสุดท้ายในปี 2549 จากนั้นยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกเพิ่มอีก สำหรับสายพันธุ์อื่นๆ ที่พบในต่างประเทศตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆ นั้น ยังไม่เคยมีรายงานพบในประเทศไทยมาก่อน
“องค์การอนามัยโลก ยังไม่มีมาตรการห้ามการเดินทางท่องเที่ยวหรือค้าขายในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก จึงยังสามารถเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปยังตลาดค้าสัตว์ปีกที่มีชีวิต ฟาร์มสัตว์ปีก โรงฆ่าสัตว์ โรงชำแหละ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก ควรล้างมือบ่อยครั้งด้วยสบู่และน้ำ หลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกที่ปรุงไม่สุก หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ภายในช่วง 14 วัน หลังกลับมาจากพื้นที่ดังกล่าว ควรสวมหน้ากากอนามัยและรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางและประวัติสัมผัสโรค ส่วนในสถานพยาบาลหากพบผู้ป่วยจากประเทศที่มีการระบาดเข้ารับการรักษา ควรวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยเฉพาะอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ทางด้านสำนักงานปศุสัตว์เขต 5 เชียงใหม่ รายงานว่า ทางกรมปศุสัตว์ได้เน้นย้ำให้มีการบูรณาการความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด-สำนักงานปศุสัตว์ทุกพื้นที่ เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มข้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด่านกักกันสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อตรวจเข้มเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกที่จะผ่านมาในประเทศไทย บริเวณพื้นที่ชายแดน หากประชาชนมีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว หอบเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีก ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว


ขอความร่วมมือประชาชน เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทุกท่าน หากพบเห็นสัตว์ปีกป่วยตายอย่างผิดปกติ ไม่ทราบสาเหตุ อย่านำสัตว์ปีกไปแจก ขาย หรือประกอบอาหารอย่างเด็ดขาด และสามารถแจ้งเบาะแสให้กับ อาสาปศุสัตว์ ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ หรือ สายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร 0-9630-11946 เพื่อจะได้ดำเนินการควบคุม ป้องกันโรคไม่ให้แพร่กระจายออกไปได้อย่างทันท่วงที และอย่านำสัตว์ที่ตายโยนทิ้งน้ำ แต่ให้ทำการฝัง หรือเผาตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

ร่วมแสดงความคิดเห็น