พัดหางนกยูงครูบาศรีวิชัย

ตอนที่ผมเริ่มรวบรวมรูปภาพครูบาศรีวิชัยเพื่อทำหนังสือให้กับวัดจามเทวี ในโอกาสครบรอบวันเกิดครูบาศรีวิชัย ผมเริ่มสังเกตุเห็นภาพครูบาศรีวิชัยถือพัดหางนกยูง โดยเฉพาะมีพัดหางนกยูงอยู่ใกล้ๆ ตัวท่านเสมอ ผมได้ทราบว่าครูบาศรีวิชัยท่านมีพัดหางนกยูงหลายเล่มและแบบไม่ซ้ำกัน

ผมได้มีโอกาศศึกษาข้อมูลการปฏิบัติของพระสงฆ์ในล้านนา พบว่าพระภิกษุสงฆ์ในล้านนามีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย เนื่องจากมีการจำแนกพระสงฆ์ตามจารีตท้องถิ่นถึง 18 นิกายและในแต่ละนิกายก็น่าจะหมายถึงกลุ่มพระที่เป็นสายอุปัชฌาย์สืบต่อกันมาในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งอำนาจการปกครองในสายของตนผ่านระบบความคิด “ศิษย์กับครู” นอกจากนั้นนิกายต่างๆ ยังเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติอีกด้วย เช่น นิกายเชียงใหม่ นิกายขึน (ไทขึน/เขิน) นิกายยอง (จากเมืองยอง) เป็นต้น

สำหรับครูบาศรีวิชัยนั้น ท่านยึดถือปฏิบัติในแนวของนิกายเชียงใหม่ผสมนิกายยอง ซึ่งแนวปฏิบัติบางอย่างต่างจากนิกายอื่น มีธรรมเนียมปฏิบัติคือ การนุ่งห่มที่เรียกว่า กุมผ้าแบบรัดอก สวมหมวก แขวนประคำ ถือไม้เท้าและพัด ซึ่งยึดธรรมเนียมมาจากวัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ซึ่งครูบาศรีวิชัยถือทั้งพัดหางนกยูงและพัดใบลาน ข้อสังเกตุที่ได้จากรูปถ่ายครูบาศรีวิชัยมีเพียงท่านเท่านั้นที่ถือพัดหางนกยูง ยังไม่ปรากฏว่ามีพระสงฆ์รูปอื่นทั้งก่อนหน้าและหลังสมัยครูบาศรีวิชัย หรือแม้แต่กระทั่งลูกศิษย์ของท่านก็ไม่มีท่านใดถือพัดหางนกยูงเลย จะมีก็แต่พัดที่เป็นขนนก เช่น พระครูพุทธวงศ์ธาดา เจ้าคณะอำเภอป่าซาง วัดฉางข้าวน้อยเหนือ ซึ่งพระรูปนี้มีความเกี่ยวข้องกับครูบาศรีวิชัยคือ ท่านได้นิมนต์ครูบาศรีวิชัยมาเป็นประธานในการก่อสร้างวิหารครอบรอยพระบาท วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง ดังนั้นพัดหางนกยูงอาจเป็นพัดประจำที่มีใช้แต่เฉพาะครูบาศรีวิชัยเท่านั้นก็เป็นได้

พัดหางนกของครูบาศรีวิชัยมีอยู่หลายรูปแบบหลายลักษณะ ตัวด้ามพัดจะมีรูปสัญลักษณ์ที่แตกต่างกัน เช่นรูปเสือ และรูปนกยูง พัดหางนกยูงที่พบในปัจจุบันได้มาจากพิพิธภัณฑ์พระสุเมธมังคลาจารย์ คณะเชียงยัน วัดพระธาตุหริภุญชัย ที่มาของพัดด้ามนี้ระบุได้มาจากครูบาศรีวิชัย เมื่อตอนที่ท่านมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเชียงยัน สภาพด้ามพัดสวยงามแต่เสียดายที่ขนหางนกยูงหลุดออกไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ด้ามเท่านั้น

ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสได้รับรู้เรื่องนกยูงที่มีในเขตตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ นกยูงที่นี่มีจำนวนมากและลงมากินข้าวเปลือกชาวบ้าน เลยมีการพูดคุยกันระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานเทศบาลเพื่อหาทางออกในการดูแลจนมาถึงข้อสรุปเรื่องการจัดการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ชาวบ้านบอกว่านกยูงเหล่านี้ไม่เคยมีใครทำร้าย เพราะเป็นนกยูงของครูบาศรีวิชัย คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่ครูบาศรีวิชัยจำพรรษาที่วัดบ้านปาง ท่านได้เลี้ยงนกยูงไว้ กระทั่งท่านได้มรณะภาพก็ไม่มีคนเลี้ยงต่อ ชาวบ้านจึงได้นำนกยูงไปปล่อยในป่าบริเวณใกล้วัด พ่ออุ้ยศรี แสนอุ่น อายุ 93 ปี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว ขณะนั้นพ่ออุ้ยศรีเป็นเณรที่ครูบาศรีวิชัยบวชให้ รวมทั้งได้เคยปรนนิบัติครูบาศรีวิชัยในช่วงเวลาหนุ่งขณะที่ได้มาจำพรรษาที่วัดพระสิงห์ในคราวที่ท่านได้สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ พ่ออุ้ยศรีเล่าว่าเหตุที่ครูบาศรีวิชัยได้ถือพัดหางนกยูงก็เพราะว่า “หางนกยูงมีตั๋วธรรม” ผมเคยเห็นหลายบ้านในเขตอำเภอลี้ อำเภอบ้านโฮ้ง อำเภอป่าซาง บนหิ้งบูชาพระหลายๆบ้านจะมีรูปครูบาศรีวิชัยและมีแจกันปักด้วยหางนกยูงอยู่ข้างรูป บางบ้านปักแจกันละ 1 หาง บางบ้านปักเป็นกำ 5-10 หาง

ความสงสัยนี้ได้รับความกระจ่างเมื่อผมมีโอกาสได้ไปช่วยทำงานในโครงการทำความสะอาดคัมภีร์ใบลาน พ่อหนานท่านหนึ่งได้สอนให้ผมอ่านอักษรธรรมล้านนา ผมสังเกตุเห็นตัว “ธะ” รูปตัวอักษรเหมือนลายเส้นบนปลายหางนกยูง คำพูดของพ่ออุ้ยศรีที่ว่า “หางนกยูงมีตั๋วธรรม” ก็ผุดขึ้นมาในหัว ทำให้ผมได้รับความกระจ่างว่า ครูบาศรีวิชัยถือพัดหางนกยูงนั้นก็เป็นสัญลักษณ์ของการถือธรรมและนำธรรมติดตัวท่านไปทุกที่ รวมถึงการที่ชาวบ้านในแถบลำพูนใช้หางนกยูงบูชาพระก็หมายถึงการบูชาด้วยธรรมนั่นเอง

บทความโดย
นเรนทร์ ปัญญาภู
นักจดหมายเหตุอิสระ

ร่วมแสดงความคิดเห็น