สดร. เปิดมิติความร่วมมือดาราศาสตร์ ไทย-กัมพูชา เติมเต็มเครือข่ายดาราศาสตร์อาเซียน


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดมิติความร่วมมือดาราศาสตร์ไทย-กัมพูชา ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ เติมเต็มเครือข่ายความร่วมมือดาราศาสตร์ในกลุ่มประเทศอาเซียน ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 28-31 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า เครือข่ายดาราศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันมีสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ พม่า และลาว การลงนามความร่วมมือทางดาราศาสตร์ไทย-กัมพูชาครั้งนี้ ทำให้ราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นสมาชิกประเทศที่ 9 ของเครือข่ายดาราศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งในการช่วยพัฒนาดาราศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้านในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาคเพื่อการพัฒนาดาราศาสตร์ภายใต้สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไม่เพียงแต่การพัฒนาด้านดาราศาสตร์เท่านั้น ยังหมายรวมถึงการพัฒนาการศึกษาและงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันเป็นรากฐานสำคัญที่จะยกระดับการพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ความร่วมมือฯ ครั้งนี้จะช่วยเพิ่มบทบาทของกัมพูชาด้านดาราศาสตร์ในภูมิภาค นำไปสู่เครือข่ายความร่วมมือดาราศาสตร์ในอาเซียนที่เข้มแข็งต่อไป

ด้าน อาจารย์เมียก คาเมราน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือทางดาราศาสตร์ไทย-กัมพูชาในครั้งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ของการศึกษาวิทยาศาสตร์ในกัมพูชา ปัจจุบันเรามีดาราศาสตร์เป็นเพียงวิชาหนึ่งในภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ แต่ยังขาดปัจจัยพื้นฐานในการศึกษาดาราศาสตร์ เราหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะได้มีโอกาสร่วมมือกันในการพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย การแลกเปลี่ยนบุคลากร รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์สู่ประชาชนชาวกัมพูชาอีกด้วย

นายฮวน โซพัด นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ กล่าวว่า ตนมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักดาราศาสตร์ เพราะดาราศาสตร์เป็นสิ่งสวยงามและน่ามหัศจรรย์ ผมมักจะเฝ้ามองท้องฟ้าเป็นประจำ ที่กัมพูชายังขาดสื่อการเรียนการสอนดาราศาสตร์ ไม่มีกล้องโทรทรรศน์ ไม่มีหอดูดาว ตนจึงต้องศึกษาเพิ่มเติมเองผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในเว็บไซต์ยูทูป ความร่วมมือระหว่าง สดร. กับ ม. ภูมินทร์พนมเปญในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม และน่าตื่นเต้นมาก ๆ จะทำให้ได้รับโอกาสใหม่ ๆ ในการศึกษาวิชาดาราศาสตร์ และหวังว่าวันหนึ่งจะได้มีโอกาสสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าในหอดูดาวและสัมผัสกับอุปกรณ์และเครื่องมือทางดาราศาสตร์ที่ใช้งานจริง
เรียบเรียงโดย : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-225569 ต่อ 210 , 081-8854353 โทรสาร 053-225524

ร่วมแสดงความคิดเห็น