ชลประทานเชียงใหม่ เผยผลการแก้ไขปัญหาสาหร่าย ทำน้ำเน่า-ปลาตายในคูเมือง สภาพเริ่มกลับมาดีขึ้นมาก

ชลประทานเชียงใหม่ เผยผลการแก้ไขปัญหาสาหร่าย ทำน้ำเน่า-ปลาตายในคูเมือง คืบหน้าคุณภาพน้ำดีขึ้นตามลำดับหลังระบายน้ำเก่าทิ้งและติดตั้งกังหันชัยพัฒนาช่วยเพิ่มออกซิเจน คาดสัปดาห์หน้าเคลียร์จบ ขณะเดียวกันมาตรการระยะยาวผู้ว่าฯ สั่งเร่งร่างแผนปฏิบัติงานร่วมทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง ก่อนลงนาม MOU บริหารจัดการน้ำในคูเมืองและเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ทั้งในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝน

จากกรณีที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสภาพน้ำในคูเมืองเชียงใหม่ ด้านประตูเชียงใหม่ โดยเฉพาะบริเวณแจ่งก๊ะต๊ำประ สบปัญหาสาหร่ายสีเขียวที่แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว และน้ำที่นิ่งส่งผลให้สภาพน้ำกลายเป็นสีเขียวขุ่น เกิดการเน่าเหม็นและปลาตาย เนื่องจากน้ำขาดออกซิเจน ซึ่งจากนั้นทางเทศบาลนครเชียงใหม่ กับสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียง ใหม่ และโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้หารือร่วมกันวางแผนการทำงานและเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระยะเร่งด่วน จะทำการระบายน้ำที่มีปัญหาออกไปและทำการผันน้ำใหม่จากคลองชลประทานประมาณ 200,000 ลูกบาศก์เมตร เข้าแทนนั้น

ทั้งนี้ นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่า เบื้องต้นทางเทศบาลนครเชียงใหม่และชลประทาน ได้ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ด้วยการระบายน้ำที่มีปัญหาสาหร่ายออกจากคูเมือง อย่างไรก็ตามการระบายน้ำออกนั้น ต้องค่อยๆ ระบายออกไปเฉลี่ยวันละประมาณ 30 ซม. เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกำแพงเมืองและตลิ่งที่อาจจะทรุดตัว หากระบายน้ำออกไปในครั้งเดียว รวมทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชน ที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องระบายน้ำผ่านด้วย

โดยเวลานี้ได้มีการนำกังหันน้ำชัยพัฒนา ไปติดตั้งไว้ในคูเมืองบริเวณแจ่งก๊ะต๊ำ ที่ประสบปัญหาและเป็นจุดระบายน้ำออก เพื่อช่วยเพิ่มออกซิเจนลงในน้ำและช่วยการระบายน้ำ ทั้งนี้ล่าสุด พบว่าคุณภาพน้ำดีขึ้นมาก คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงสัปดาห์หน้า จากนั้นจะผันน้ำใหม่ ซึ่งเวลานี้มีการผันมาพักรอไว้แล้วในคูเมืองด้าน รพ.เชียงใหม่ราม เข้ามาเติมแทนน้ำเก่าที่ถูกระบายออกไป

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสาหร่ายสีเขียว แพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในคูเมืองเชียงใหม่ จนส่งผลให้เกิดน้ำเน่าเสียและปลาตายนั้น นายเจนศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในคูเมืองเฉพาะช่วง ตั้งแต่แจ่งกู่เฮือง ไปจนถึงบริเวณของแจ่งก๊ะต๊ำ ที่อยู่ต่ำกว่า และเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของทุกปีต่อเนื่องกันมา 2-3 ปี แล้ว โดยในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาจะเป็นในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. เบื้องต้นสันนิษฐานว่าปัญหานี้อาจจะเกี่ยวเนื่องกับการจัดงานมห กรรมไม้ดอกไม้ประดับเชียงใหม่ ที่จัดขึ้นบริเวณสวนบวกหาดและแจ่งกู่เฮือง ช่วงเดือน ก.พ.ของทุกปี

ซึ่งในช่วงจัดงานที่มีการแสดงไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ อาจจะมีปุ๋ยหรือฮอร์โมนบำรุงการเจริญเติบโตหลุดหล่นลงไปในคูเมือง แล้วกลายเป็นปัจจัยที่ช่วยเร่งการขยายพันธุ์ของสาหร่าย เสริมกับแสงแดดและอากาศร้อนในช่วงฤดูร้อน จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งหลังจากนี้คงจะต้องมีการระมัดระวังในส่วนนี้ด้วย

ขณะที่แนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น นายเจนศักดิ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง ผวจ. เชียงใหม่ กับเทศบาลนครเชียงใหม่,สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.เชียงใหม่,สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 ,สำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ และโครงการชลประทานเชียงใหม่ เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องมีแผนการทำงานร่วมกัน

โดย ผวจ.เห็นควรให้ เทศบาลนครเชียงใหม่,สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ,สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 ,สำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ และโครงการชลประทานเชียงใหม่ มีการลงนาม MOU ในการบริหารจัดการน้ำในคูเมืองและเขตตัวเมืองเชียงใหม่ โดยข้อตกลงตาม MOU ดังกล่าว ที่กำลังอยู่ระหว่างการร่าง ทุกหน่วยงานจะมีการวางแผนการ และกำหนดปฏิทินการปฏิบัติงานร่วมกันให้ชัดเจน ทั้งในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝน ซึ่งจะช่วยป้องกันแก้ไขทั้งปัญหาคุณภาพน้ำในคูเมือง และปัญหาน้ำท่วมด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น