ระดมความคิดเห็น พัฒนาเกษตรอินทรีย์

กระทรวงเกษตรฯ เปิดเวทีระดมความคิดเห็นประเด็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้าและการบริการเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” ตั้เป้าหมายมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 600,000 ไร่ และเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย ภายในปี 64 พร้อมการเพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่อตลาดส่งออก
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการระดมความคิดเห็นประเด็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 ณ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เชิญทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมระดมความคิดเห็นถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งได้ผ่านมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ซึ่งมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นฝ่ายเลขาฯ โดยจะดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้าและการบริการเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” มีเป้าหมายในการมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 600,000 ไร่ ภายในปี 2564 การเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย ภายในปี 2564 การเพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่อตลาดส่งออก โดยให้มีสัดส่วนตลาดในประเทศร้อยละ 40 ต่อตลาดส่งออกร้อยละ 60 และการยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น
“การจัดประชุมระดมความคิดเห็นดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ให้ครอบคลุมทุกประเด็นซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำแผนงานโครงการในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากผู้แทนกระทรวงต่าง ๆ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง รวมถึงผู้แทนภาคการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ประมาณ 150 คน” นางสาวชุติมา กล่าว
สำหรับประเด็นการขับเคลื่อนที่สำคัญภายใต้แต่ละยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การส่งเสริมการวิจัยและการสร้างองค์ความรู้ การต่อยอดงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และการจัดทำฐานข้อมูล 2.การพัฒนาการผลิตสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ให้เกษตรกรได้การรับรองมาตรฐานการสร้างเครือข่าย และการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน 3.การพัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับ และจัดตั้งศูนย์บริการแบบ One Stop Service และ 4.การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการ ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจัดให้มีกลไกการขับเคลื่อน สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาร่วมเป็นเครือข่าย และจัดตั้งสถาบันพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ จะบูรณาการจากทุกภาคส่วนในรูปแบบประชารัฐ เพื่อผลักดันแนวทางการพัฒนาไปสู่การจัดทำแผนงานให้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ร่วมแสดงความคิดเห็น