นอภ.แม่แจ่ม มอบเครื่องอัดก้อน ชีวมวลมัดเชือกอัตโนมัติ เพื่อจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้ง ทางการเกษตร

 

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.60 ที่ศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ต.ท่าผา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร นอภ.แม่แจ่ม เป็นประธานพิธีมอบเครื่องม้วนอัดก้อนชีวมวลมัดเชือกอัตโนมัติ เพื่อจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยส่วนมากเป็นข้าวโพด ที่มีปริมาณการเพาะปลูกในพื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก มีผู้นำการปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ มาร่วมกิจกรรมดังกล่าว และชมการทำงานของเครื่องดังกล่าว

นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร นอภ.แม่แจ่ม เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย คือการเกิดหมอกควันปกคลุมในช่วงเดือน ธ.ค.-มี.ค.ของทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สาเหตุที่สำคัญเกิดจากไฟป่า และการเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน ทำให้เกิดการสะสมของมลพิษจากหมอกควัน ในชั้นบรรยากาศสูงเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว สังคม เศรษฐกิจ โดยเฉพาะสุขภาพของประชาชน

ที่ผ่านมาหลายภาคส่วนได้ทำงานแบบเบรอและการร่วมกัน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือให้หมดไปอย่างยั่งยืน สำหรับพื้นที่ อ.แม่แจ่ม เป็นพื้นที่ที่เกิดความรุนแรงของปัญหานี้มากที่สุด มีความต้องการเครื่อง จักรที่สามารถทำงานทดแทนแรงงานคนได้อย่างรวดเร็ว มาช่วยบริหารจัดการกำจัดวัสดุเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อช่วยลดความรุนแรงของปัญหาจากการเผาทำลายทิ้ง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่เพิ่มขึ้น

ทางด้านนางวนิดา บุญนาคค้า ผอ.สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทค โนโลยี ได้ผลักดันนโยบายในการขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยป้องกัน แก้ไข หรือบรรเทาปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค หรือประเทศ โดยผ่านกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งในระดับภูมิภาค คือศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค

โดยเมื่อปี พ.ศ.2558 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนคร เหนือ ได้วิจัยพัฒนา “เครื่องม้วนเก็บใบอ้อย ต่อพ่วงรถแทร็กเตอร์” แต่ในพื้นที่ ต.ท่าผา มีความลาดชันสูง รถแทร็กเตอร์เข้าถึงได้ยาก ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ร่วมกับ นายสุพจน์ ริจาม นายก ทต.ท่าผา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีฯ ดำเนินการพัฒนาสร้างเครื่องม้วนอัดก้อนชีวมวลมัดเชือกอัตโนมัติ ที่สามารถทำงานได้แบบอยู่กับที่และเคลื่อนไหวได้ เพื่อช่วยรวบรวมวัสดุเศษเหลือทิ้ง ได้แก่ ต้น ตอ ใบ เปลือก และซัง จากไร่ข้าวโพด ซึ่งมีปริมาณการเพาะปลูกในพื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเครื่องนี้สามารถอัดโฟนได้ถึง 60 ก้อนต่อชั่วโมง สำหรับนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ย หรือทำเป็นเชื้อเพลิงพลังงานต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น