“หมวกสานล้านนา” นับวันยิ่งลืมเลือน

คนในอดีตมักจะนิยมสวมใส่หมวกสานเวลาที่ออกไปทำไร่ ทำนา หรือ แม้แต่การเข้าสังคมก็จะมีการใส่หมวกด้วย นอกจากนั้นยังสันนิษฐานว่า ในภาวะภูมิอากาศที่ค่อนข้างร้อนจึงทำให้หมวกสานมีสถานะเป็นเครื่องช่วยป้องกันความร้อนได้ดีไม่แพ้ร่ม

เมื่อสมัยที่ผมยังเป็นเด็กจำได้ว่าเคยออกไปวิ่งเล่นแถวทุ่งนาใกล้บ้าน มักจะพบเห็นภาพของพ่ออุ้ยแม่อุ้ยกำลังก้มหน้าสาละวนอยู่กับทำนุบำรุง รดน้ำพืชผักในแปลง สิ่งหนึ่งที่ผมไม่อาจลืมเลือนได้ก็คือ วิถีชีวิตอันเรียบง่ายของคนชนบท ภาพของพ่ออุ้ยแม่อุ้ยนุ่งเสื้อหม้อฮ้อมบนหัวจะใส่งอบ หรือ หมวกกุ๊บ ซึ่งกลายเป็นสัญญาณของคนชนบทและชาวนาไทยไปแล้ว

ปัจจุบันเมื่อวิถีทางการทำเกษตรได้ลดน้อยลง เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้ามาตั้ง หนุ่มสาวรุ่นใหม่แทนที่จะเจริญรอยตามวิถีทางการดำรงชีวิตแบบบรรพบุรุษก็หันเหวงจรเข้ามาสู่ระบบการใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมกันมากขึ้น ที่ต่างกันหน่อยก็ตรงมีโอกาสแต่งเนื้อแต่งตัวออกจากบ้านไปทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับ ขณะที่บางคนลงทุนเดินทางข้ามจังหวัดเพียงเพื่อมาทำงานหารายได้ในโรงงาน ทว่าการทำงานแบบ “รูทีน” ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานคนแทนเครื่องจักรนั้น แทบเทียบไม่ได้แม้กึ่งก้อยกับวิถีชีวิตในการทำนาของคนชนบทที่อิงแอบกับธรรมชาติป่าไม้ ท้องไร่ท้องนาได้อย่างกลมกลืน

เมื่อคนหนุ่มสาว ต่างมุ่งหน้าเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น พ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่ตรากตรำกับการทำไร่นามาชั่วชีวิตไม่มีลูกหลานสืบทอด พื้นที่ไร่นาจึงถูกทิ้งร้างว่างเปล่า หมู่บ้านจัดสรรก็ได้เข้ามาแทนที่ ภาพวิถีชีวิตของพ่ออุ้ยแม่อุ้ยนุ่งเสื้อหม้อฮ้อมใส่งอบบนหัว จึงถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำ คุณค่าของงานหัตถกรรมอันปราณีตอย่างหมวกสาน หรือ งอบ ก็เลือนหายไปด้วย ผนวกกับวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่มีการออกแบบหมวกรูปทรงต่าง ๆ มากขึ้นก็ยิ่งตอกย้ำให้หมวกสานกลายเป็นสิ่งของหายากที่คนรุ่นนี้ น้อยคนนักจะรู้จัก

ในสมัยโบราณการทำหมวกสานล้านนานั้นนิยมทำกันหลายแบบส่วนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายได้แก่ หมวกสานจากใบลาน หรือที่คนรู้จักในชื่อ “หมวกสามล้อ” กล่าวกันว่าหมวกชนิดนี้มีความยืนยงเก่าแก่ไม่แพ้ “งอบ” ของชาวนาในภาคกลาง นอกจากนั้นในเชียงใหม่ของเรายังเป็นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชนต่าง ๆ หลายเผ่าพันธุ์ ทั้งไทยวน ไทลื้อ ไทเขิน ไทยอง ไทใหญ่ รวมถึงคนจีนและแขก จึงทำให้มีหมวกรูปทรงแปลก ๆ และหายาก โดยเฉพาะ “หมวกเงี้ยว” ให้ได้พบเห็นกันอยู่ในช่วงที่มีงานเทศกาลสำคัญ ๆ

คนในอดีตมักจะนิยมสวมใส่หมวกสานเวลาที่ออกไปทำไร่ ทำนา หรือ แม้แต่การเข้าสังคมก็จะมีการใส่หมวกด้วย นอกจากนั้นยังสันนิษฐานว่า ในภาวะภูมิอากาศที่ค่อนข้างร้อนจึงทำให้หมวกสานมีสถานะเป็นเครื่องช่วยป้องกันความร้อนได้ดีไม่แพ้ร่ม

ปัจจุบันยังคงมีการทำงอบและหมวกเงี้ยวกันอยู่และใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะ “งอบ” ยังมีชาวไทยอย่างน้อย 2 ภาคที่นิยมใช้คือ ภาคกลางและภาคเหนือ นอกจากนั้นยังสามารถขายให้กับนักท่องเที่ยวได้อยู่พอสมควร ส่วนหมวกกะโล่อีกแบบหนึ่ง เป็นหมวกโครงไม้ไผ่กรุด้วยใบตาล หรือ ใบลาน ส่วนใหญ่เรียกว่า “หมวกใบลาน” หรือ “หมวกสามล้อ” เพราะคนถีบสามล้อนิยมใช้กัน เห็นมีแพร่หลายเฉพาะภาคกลางและภาคเหนือเท่านั้น เมื่อพิจารณาด้านวัสดุและกรรมวิธีการทำหมวกพื้นบ้านดังกล่าว จะเห็นว่านิยมสานโครงด้วยตอกไม้ แล้วกรุด้านนอกด้วยใบไม้ เช่น ใบลาน ใบจากอ่อนและใบหวาย

แต่ทุกวันนี้มีการนำเอาวัสดุหลากหลายเข้ามาใช้กว้างขวางขึ้น และบางแบบก็ไม่มีการสานเลย ใช้กาบของไม้บางชนิดมาจักและเย็บเข้าด้วยกัน มีตอกไม้ไผ่ช่วยเป็นโครงอยู่บ้าง ทั้งจำนวนแบบที่สานล้วน ๆ ก็เพิ่มมากขึ้น เช่น สานด้วยใบลาน กระจูด กก ผักตบชวา ซึ่งการทำหมวกชนิดนี้มุ่งขายให้กับนักท่องเที่ยวมากกว่าชาวบ้านเพราะมีราคาสูงกว่า ปัจจุบันมีชาวบ้านในหมู่บ้านต่าง ๆ หันมาสนใจทำหมวกสานกันมากขึ้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์งานฝีมือท้องถิ่นและยังสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะที่อำเภอป่าซางจังหวัดลำพูน มีการสานหมวกขายกันมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะหันมาใช้วัสดุสังเคราะห์แทนวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ ทั้งนี้เพราะว่าใบลานในท้องถิ่นเริ่มหายากแล้ว

อนาคตของหมวกสานจะไปได้อีกไกลหรือใกล้แค่ไหน คงต้องขึ้นอยู่ที่ผู้บริโภคมีความนิยมใช้มากน้อยแค่ไหน แม้ว่าจะมีคู่แข่งสำคัญอย่าง “หมวกผ้า” ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มคนเหมือนกัน แต่กลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่นของหมวกสานก็คือ ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน กรรมกรและนักท่องเที่ยว ซึ่งถ้าหากไม่มีที่ไร่ ที่นา ที่สวนให้กับเกษตรกรได้ทำ จะมีประโยชน์อะไรที่วงจรชีวิตของหมวกสานจะยังคงยืนยาว แต่กับนักท่องเที่ยวที่เห็นความสำคัญก็ไม่แน่ เพราะจะมีนักท่องเที่ยวสักกี่รายที่เห็นคุณค่าของหมวกสาน ในฐานะของงานหัตถกรรมอันมีค่าของท้องถิ่น.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น