เจดีย์ทรงพุกามที่วัดพระยืนลำพูน


วัดพระยืนในอดีตเคยรุ่งเรืองมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมืองหริภุญชัย ด้วยวัดพระยืนเป็นวัดสำคัญทางทิศตะวันออกของเมืองมีบ้านเรือนศรัทธาผู้อุปัฏฐากประมาณ 70 หลังคาเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา พระภิกษุที่จำพรรษาที่วัดนี้ส่วนใหญ่มาจากถิ่นอื่นเพื่อพำนักศึกษาเล่าเรียน โบราณสถานที่สำคัญในวัดพระยืนได้แก่เจดีย์วัดพระยืน

วัดพระยืนเป็นวัดประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดลำพูน เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองแห่งนครหริภุญชัย สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีเป็นปฐมกษัตริย์ครอบครองนครหริภุญชัยองค์ที่ 1 นับอายุปัจจุบันได้ 1336 ปี

ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ.1204 พระสุเทวฤาษีได้สร้างนครหริภุญชัยขึ้น เมื่อสร้างนครได้ 2 ปีจึงได้อัญเชิญพระนางจามเทวีจากเมืองละโว้มาเสวยราชสมบัติและเมื่อพระนางจามเทวีครองราชได้ 7 ปี เมื่อปี พ.ศ.1213 พระองค์จึงได้สร้างวัดทางทิศตะวันออกของเมือง สร้างพระวิหาร พระพุทธรูปและเสนาสนะให้เป็นที่อยู่ของพระสังฆเถระ เรียกชื่อวัดนี้ว่า “อรัญญิการาม”

ปีพุทธศักราช 1606 สมัยพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์องค์ที่ 32 แห่งนครหริภุญชัยมีผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุผุดขึ้นมาจากพื้นดินกลางเมืองเปล่งรัศมีต่าง ๆ พระองค์จึงมีบัญชาให้เสนาอำมาตย์ทั้งหลายสร้างพระสถูปปราสาทสูง 12 ศอกมี 4 เสาประตู 4 ด้านตรงผอบที่พระบรมสารีริกธาตุผุดขึ้นนั้นภายหลังเรียกว่า “พระบรมธาตุหริภุญชัย” และพระเจ้าอาทิตยราชทรงหล่อพระมหาปฏิมากรทองสัมฤทธิ์สูง 18 ศอกเสร็จแล้วได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดทางทิศตะวันออกหลังพระวิหารวัดอรัญญิการามและสร้างปราสาทสถูปเป็นที่ประดิษฐานพระมหาปฏิมากร(พระพุทธรูปยืน)นั้นด้วย เรียกชื่อว่า “วัดพุทธอาราม”

ในปี พ.ศ.1912 พระยากือนาและพระมหาสุมณะเถระได้สร้างพระพุทธรูปยืนด้านตะวันออกด้วยศิลาแลงเมื่อปีระกา เดือนยี่ออก 3 ค่ำวันอังคาร ซึ่งปรากฏตามหลักศิลาจารึกความว่า “พระมหาเถระเป็นเจ้า จึงให้แรกสร้างพระยืนเป็นเจ้าในปีระกา เดือนยี่ออก 3 ค่ำวันไตยกาบเส็ด วันเม็งอังคาร เมื่อจักได้สร้างศักราชได้เจ็ดร้อยสามสิบเอ็ดฯ….ถัดนั้นท่านเป็นเจ้าให้แรกมาฆะ คือประชัยรากพระพุทธรูปยืนทั้ง 3 ตน อันมาหนด้านใต้ ด้านเหนือ เมื่อวันหนวันตกนั้น ปีระกาเดือน 3 แรม 4 ค่ำฯ…วันศุกร์ศักราชได้เจ็ดร้อยสามสิบเอ็ดโสด กระทำพระยืนเป็นเจ้าในปีระกามาแล้วในปีจอ”
วัดพระยืนในอดีตเคยรุ่งเรืองมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมืองหริภุญชัย ด้วยวัดพระยืนเป็นวัดสำคัญทางทิศตะวันออกของเมืองมีบ้านเรือนศรัทธาผู้อุปัฏฐากประมาณ 70 หลังคาเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา พระภิกษุที่จำพรรษาที่วัดนี้ส่วนใหญ่มาจากถิ่นอื่นเพื่อพำนักศึกษาเล่าเรียน โบราณสถานที่สำคัญในวัดพระยืนได้แก่เจดีย์วัดพระยืน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1606 สมัยพระเจ้าอาทิตยราช ซึ่งพระองค์ได้หล่อพระมหาปฏิมากรทองสัมฤทธิ์สูง 18 ศอกแล้วอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระยืน ต่อมาปี พ.ศ.1912 พระยากือนา กษัตริย์นครพิงค์เชียงใหม่ได้นิมนต์พระสุมณะเถระจากเมืองสุโขทัยมาจำพรรษาที่วัดพระยืน จากนั้นจึงได้ก่อสร้างพระพุทธรูปยืนเป็นศิลาแลงขนาดเท่าองค์เดิมขึ้นอีก 3 องค์ และต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2447 พระคันธวงศ์เถระ (ครูบาวงศ์) ภายหลังที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูศีลวิลาศ เจ้าคณะจังหวัดลำพูนพร้อมด้วยเจ้าหลวงอินทยงยศ เจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ก่อสร้างสถูปที่พังทลายแล้วแต่องค์พระปฏิมากรสมัยที่พระเจ้าอาทิตยราชและพระสุมณะเถระกับพระยากือนาสร้าง 4 องค์นั้นยังอยู่ การก่อสร้างขึ้นใหม่ได้ก่อหุ้มพระปฏิมากรทั้ง 4 องค์เดิมไว้ภายในและได้สร้างก่อสร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่อีก 4 องค์

ปี พ.ศ.2471 กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเจดีย์วัดพระยืนเป็นมรดกของชาติ จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ.2548-2549 กรมศิลปากรได้จัดงบประมาณเพื่อทำการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์วัดพระยืน รวมทั้งการปรับภูมิทัศน์โดยรอบของวัด ในขณะที่เจ้าหน้าที่ได้ปรับภูมิทัศน์ของวัดอยู่นั้นก็ได้พบสิ่งปลูกสร้าง ก่อด้วยฐานอิฐถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่อาจสาวไปถึงการก่อสร้างวัด โดยมีการขุดพบฐานเจดีย์สมัยสุโขทัย ถนนที่ปูลาดด้วยอิฐโบราณ รวมถึงการขุดพบฐานเสนาสนะ

จนเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2549 เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้ขุดพบเศียรพระพุทธรูปสมัยหริภุญชัย สันนิษฐานว่ามีอายุในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17-18 และโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก อยู่ในฐานพระเจดีย์ที่ฝังอยู่ใต้ดินบริเวณหลังวิหารพระเจ้าทันใจ ซึ่งนับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญทางวิชาการและโบราณคดีชิ้นใหม่ที่พบล่าสุด

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น