มช.ส่งเสริม “คาร์บอนเครดิต จากฟาร์มสุกรขนาดเล็ก” แห่งแรกของไทย สู่ตลาดโลก

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. ในฐานะหน่วยงานบริหารโครงการ หรือ C/ME ร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) ในฐานะผู้รับซื้อคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้น พัฒนาโครงการซีดีเอ็มขนาดเล็ก สำหรับฟาร์มสุกรในประเทศ (Thailand Small Scale Livestock Waste Management Program) โดยใช้รูปแบบ Programmatic CDM ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มฟาร์มสุกรเข้าร่วมโครงการฯ
โดยฟาร์มสุกรแต่ละกลุ่ม จะดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการปรับปรุงประ สิทธิภาพการจัดการน้ำเสียภายในฟาร์ม โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ พร้อมติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพภายในฟาร์มขนาดเล็ก แบบ CMU-CD (Chiangmai University Channel Digester) แล้วนำก๊าซชีวภาพที่ได้ ไปผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม

ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกหันมาให้ความใส่ใจกับปัญหาโลกร้อน โดยทุกประเทศต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ สำหรับประเทศไทยมีการผลักดันให้ใช้พลังงานทด แทนมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะการพัฒนาระบบก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทน มีส่วนเกี่ยวโยงกับการลดภาวะโลกร้อนได้ พร้อมกับการสร้างรายได้เข้าประเทศ ในการขายคาร์บอนเครดิต

โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช.ได้ร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) พัฒนาโครงการซีดีเอ็มขนาดเล็ก สำหรับฟาร์มสุกรในประเทศไทย เพื่อนำกลไกการพัฒนาที่สะอาดมาใช้เพิ่มคุณค่าของพลังงานก๊าซชีวภาพการดำเนินงานโครงการฯ ในระยะแรกมีสุกรทั่วประเทศ จำนวน 600,000 ตัว ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมได้มากกว่าปีละ 240,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทำให้เกิดการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศจากการขายคาร์บอนเครดิตได้มากถึงปีละ 115 ล้านบาท

ปัจจุบัน มีฟาร์มสุกรที่ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตแล้ว จำนวน 13,858 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งฟาร์มสุกรได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตแล้ว เป็นฟาร์มที่อยู่ในกลุ่มที่ 1(CPA1) ได้แก่ ฟาร์มโชคชัยการสุกร จ. นครราชสีมา จำนวน 4,796 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า , ฟาร์มวังน้อย (แหลมทองไฮบริด) จ.พระนคร ศรีอยุธยา จำนวน 3,632 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า, ฟาร์มพนมสารคาม (คณาไฮบริด) จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 5,430 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีฟาร์มที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน โครงการขายคาร์บอนเครดิต อีกจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ฟาร์มเจริญพันธุ์สามชุก และวีระชัยฟาร์ม

ซึ่งนอกจากฟาร์มขนาดเล็กที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับประโยชน์จากการขายคาร์บอนเครดิต และมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยลดปัญหากลิ่นเหม็นและแมลงที่เป็นพาหะแพร่เชื้อโรคได้ รวมทั้งลดต้นทุนทางด้านพลังงาน โดยนำก๊าซชีว ภาพมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานความร้อน หรือใช้ผลิตไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม หากเหลือใช้ยังสามารถจำหน่ายให้กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้อีกด้วย

นับเป็นความสำเร็จของฟาร์มสุกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ภายใต้การสนับสนุนการดำเนินงานจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่ส่งเสริมให้ฟาร์มสุกรทั่วประเทศ เกิดการผลิตก๊าซชีวภาพจากแหล่งน้ำเสียและของเสีย ทั้งในภาคปศุสัตว์และภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และใช้เป็นพลัง งานทดแทนได้อย่างยั่งยืน ช่วยลดวิกฤติโลกร้อน และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศ ก้าวสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำได้ในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น