สสช. เผยอัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 2561

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช) เผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ประจำเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พบจำนวนผู้มีงานทำลดลง คนว่างงานเพิ่มขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช) สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 โดยระบุว่า ในเดือนที่ผ่านมามีจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปกว่า 56.16 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงานทั้งสิ้น 38.42 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำจำนวน 37.60 ล้านคน ผู้ว่างงานจำนวน 4.91 แสนคน และผู้รอฤดูกาลอีกราว 3.29 แสนคน นอกจากนี้ยังมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงานกว่า 17.74 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน นักศึกษา และคนชรา

สำนักงานสถิตแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์แรงงานในเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560) พบว่าจำนวนผู้มีงานทำลดลง 8.0 หมื่นคน มีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 6.1 หมื่นคน และหากเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมราว 1.6 หมื่นคน

หากพิจารณาถึงอัตราการว่างงานแบบแยกตามเพศ พบว่า ในเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพศชายมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.3 ในขณะที่เพศหญิงมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2 โดยสรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ในเดือนที่ผ่านมา ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อัตราการว่างงานทั้งเพศชายและเพศหญิงเพิ่มขึ้น

สำนักงานสถิตแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

การเปรียบเทียบอัตราการว่างงานจำแนกตามกลุ่มอายุ เดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2561 พบว่ากลุ่มเยาวชน หรือผู้มีอายุ 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 6.3 ซึ่งโดยปกติแล้วคนในกลุ่มนี้จะมีอัตราการว่างงานสูง ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ ผู้ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.7 โดยสรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา  กลุ่มเยาวชนมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 4.0 เป็นร้อยละ 6.3

เมื่อจำแนกผู้ว่างงานตามประสบการณ์การทำงาน พบว่า ในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 มีผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 2.35 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 47.9 ของผู้ว่างงานทั้งหมด และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 2.56 แสนคน หรือร้อยละ 52.1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ว่างงานจากงานด้านการบริการและการค้า ภาคการผลิต และภาคเกษตรกรรม ตามลำดับ

ทั้งนี้ในภาพรวมของการมีงานทำทั้งหมด ประเภทอุตสาหกรรมที่สำคัญของผู้มีงานทำ อันดับหนึ่งยังคงเป็นอาชีพเกษตรกรรมกว่า 11.27 ล้านคน (เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาราว 5.8 แสนคน) รองลงมาคือด้านการผลิต 6.63 ล้านคน และการขายส่งฯ 6.36 ล้านคน

สำนักงานสถิตแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ภาคกลางมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 7.1 หมื่นคน กรุงเทพมหานครมีผู้ว่างงานลดลง 4.0 พันคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ว่างงานลดลง 4.9 หมื่นคน ภาคใต้มีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 2.2 หมื่นคน และภาคเหนือมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 2.1 หมื่นคน โดยอัตราการว่างงานรายภาคคิดเป็นร้อยละ 1.3 ร้อยละ 1.0 ร้อยละ 1.3 ร้อยละ 1.8 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ

เรียบเรียงโดย : สุภัค พูลจันทร์ นักศึกษาฝึกประสบการณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมแสดงความคิดเห็น