เปิดเบื้องหลังชีวิต อสม. คุณค่าและความหมาย ที่มากกว่าการทำงานสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน คือจิตอาสาที่ยอมเสียสละเวลาช่วยเหลือสังคมและทำงานด้วยใจอย่างแท้จริง ซึ่งในประเทศไทยมีอสม.มาตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 30 ปีแล้วที่เครือข่ายอสม.ยังคงทำหน้าที่เสมือนญาติพี่น้องในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนอย่างเข้มแข็ง เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนบางแห่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล เวลาเจ็บป่วยจึงไม่สะดวกที่จะเดินทางไปรักษา ขณะที่โรงพยาบาลเองก็ต้องดูแลรักษาประชาชนในแต่ละพื้นที่กว่าหมื่นคน ด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำนวนไม่มากนัก ทำให้การบริการสาธารณสุขไม่ทั่วถึง การจัดตั้ง อสม. ภายในชุมชนจึงช่วยให้ชาวบ้านเข้าถึงการแพทย์และการรักษาได้อย่างรวดเร็วขึ้น และช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรในโรงพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยในเบื้องต้น
บุคคลที่มีจิตอาสาเป็นอสม. จะมีอายุตั้งแต่ 25 ปีจนถึง 70 ปี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของตนเอง โดยอสม.จะเป็นเครือข่ายที่คอยประสานงานระหว่างหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ รพ.สต. และคนในชุมชน โดยอสม.​ 1 คนจะดูแลชาวบ้าน 10-15 ครัวเรือน และได้รับเงินเดือนเพียงเดือนละ 600 บาทเท่านั้น ซึ่งหากเทียบกับภาระหน้าที่ที่พวกเขาต้องรับผิดชอบแล้ว การได้รับผลตอบแทนเพียงเดือนละไม่กี่ร้อยบาทนั้นไม่อาจวัดคุณค่าของจิตอาสาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือสังคมได้เลย
ด้วยภารกิจของอสม. จะต้องแจ้งข่าวโรคระบาดต่างๆ ในพื้นที่ การติดตามดูแลผู้ป่วย และแนะนำความรู้ในการดูแลสุขภาวะให้แก่คนในชุมชน ซึ่งการทำงานในอดีตที่ผ่านมา อสม. จะนัดหมายประชุมกันทางโทรศัพท์ และไปร่วมประชุมที่รพ.สต.ทุกเดือน แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการดูแลสุขภาพคนในชุมชน เขียนรายงานส่งไปให้ รพ.สต. ในสังกัดของตนเองเพื่อนำข้อมูลเหล่านี้บันทึกเป็นฐานข้อมูลสำคัญในพื้นที่
แต่เมื่อประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งภาครัฐได้ส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนการทำงานด้านต่างๆ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอสจึงได้นำเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้แนวคิด Digital For Thais เข้ามาส่งเสริมการทำงานด้านสาธารณสุขชุมชน เพื่อช่วยให้การทำงานของอสม. สะดวก รวดเร็วและทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยพัฒนาแอปพลิเคชัน “อสม. ออนไลน์” สำหรับเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่ม เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารในการปฎิบัติงานด้านสาธารณสุขชุมชนเชิงรุกของหน่วยบริการสุขภาพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอสม. ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาการทำงานของอสม. ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น เพราะสามารถสื่อสารผ่านแอปฯ เฉพาะกลุ่ม แทนการจดบันทึกลงกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเรื่องโรคระบาด การส่งรายงาน การนัดประชุม การแจ้งพิกัดแผนที่ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันถ่วงที นอกจากนี้ยังสามารถประสานกับหน่วยบริการสุขภาพ และ รพ.สต. เพื่อสอบถามอาการของผู้ป่วย จนถึงแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยในเบื้องต้นได้อีกด้วย การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยส่งเสริมงานสาธารณสุขชุมชนในวันนี้ จึงไม่ใช่แค่การนำเครื่องมือสื่อสารไปอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน แต่เป็นการสนับสนุนให้บุคลากรด้านสาธารณสุขและอสม.ที่เป็นจิตอาสาเหล่านี้ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าประชาชนจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ยังสามารถมีสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนได้อย่างเท่าเทียมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น