ผ้าทอขนแกะ กาแฟ และวิถีชีวิตชาวปกาเกอญอ บ้านห้วยห้อม

ทะเลภูเขาทั้งสองฝากฝั่งซ้ายขวาวเรียงซ้อนเป็นชั้นๆ มีถนนผ่ากลางคตโค้งขึ้นลง รถข้ามเขามานับไม่ถ้วนทำให้อดคิดในใจเสียมิได้ชุมชนแห่งนี้มีอะไรเป็นแรงจูงใจถึงให้เข้ามาตั้งชุมชนได้ไกลถึงขนาดนี้นะ “นายหลวง”ยังได้เสด็จมาเยี่ยมราษฎรที่บนดอยแห่งนี้ถึง 2 ครั้ง กาแฟห้วยห้อม ผ้าทอขนแกะ ของชุมชนบ้านห้วยห้อมที่มีชื่อเสียงจนทำให้เราต้องมาเที่ยวชมศึกษาเรียนรู้ บ้านห้วยห้อม บ้านห้วยห้อม เป็นชนเผ่ากระเหรี่ยง กลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่า “ปกาเกอญอ” ก่อตั้งมายาวนานถึง 200 ปี ผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน ชื่อ ผู้เฒ่าโกรบ่อ และแม่เฒ่าแอ๊ะพอ ในสมัยก่อสร้างหมู่บ้านครั้งแรกนั้น มีจำนวนครอบครัว 3 ครอบครัว ต่อมาจำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้น โดยมีชาวบ้านอพยพมาจากหมู่บ้านต่างๆ ได้แก่ บ้านแม่สะกั๊ว บ้านแม่งะ บ้านแม่สะปึ๋งเหนือ บ้านแม่สะแมง และบ้านหนองม่วน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยม ที่บ้านห้วยห้อมถึง 3 ครั้ง คือ ในปี พ.ศ. 2514 พ.ศ. 2519 และ พ.ศ. 2521 ตามลำดับ และได้พระราชทานสิ่งของ พันธุ์แกะ ให้กับพสกนิกร และได้ทรงมีพระราชดำรัสกับชาวบ้านห้วยห้อม ให้ช่วยกันดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแหล่งน้ำและป่าไม้ จึงทำให้ผืนป่าแห่งนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบันนี้จนเป็นความภาคภูมิใจของพสิกนิกรบ้านห้วยห้อมเป็นอย่างมาก
อาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่คือการทำนา โดยส่วนมากปลูกข้าวนาปีแบบขั้นบันได รองลงมาก็เป็นการปลูกพืชสวน ไม่ว่าจะเป็น หมาก เสาวรส หรือแม้กระทั่งกาแฟ ตลอดจนพืชพื้นเมืองต่างๆ และแกะพันธุ์ตัดขน มีการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง พอมีพอกิน
งานหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อของบ้านห้วยห้อม ผ้าทอขนแกะ เริ่มต้นโดยกลุ่มมิชชันนารี ที่มาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ เห็นว่าการทอผ้าของชาวปกาเกอญอหมู่บ้าน ซึ่งใช้ฝ้ายพื้นเมืองที่ปลูกเองนำมากรอเป็นด้ายทอผ้า จากนั้นได้นำความรู้เกี่ยวกับการใช้ขนแกะมาทำเป็นเส้นด้ายสำหรับทอผ้าสอนให้ชาวบ้าน
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จที่บ้านห้วยห้อม และได้พระราชทานพันธุ์แกะให้ชาวบ้านห้วยห้อมเลี้ยงเพื่อตัดขนมาทำผ้าทอ และได้รวมกลุ่มเป็นกลุ่มทอผ้าขนแกะของหมู่บ้านขึ้น เป็นผ้าทอที่มีความนุ่ม ลวดลายสวยงาม และประณีต จากการทอขนแกะด้วยมือ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอที่ได้มีทั้งผ้าทอที่ทอจากขนแกะล้วนๆและผ้าทอที่ผสมผสานระหว่างขนแกะกับเส้นฝ้ายที่ผ่านการย้อมสีธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน โดยใช้ด้ายยืนเป็นเส้นด้ายจากฝ้าย ส่วนด้ายพุ่งเป็นเส้นด้ายจากขนแกะ ส่วนใหญ่นิยมทอเป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าคลุมเตียง หรือผ้าปูโต๊ะ เป็นต้น
กระบวนการทอเริ่มจาก การนำขนแกะที่ตัดได้มาทำความสะอาดด้วยแชมพู หรือผงซักฟอก จากนั้นนำไปตากให้แห้ง คัดแยกเอาเศษหญ้าและสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ออก แล้วนำขนแกะที่ได้มาดึงยืดเพื่อให้มีความนุ่ม หวีขนแกะโดยใช้แปรงหวีเพื่อให้ฟู นำมากรอเป็นเส้นด้าย แล้วจึงใช้ด้ายผูกกับไม้และเข้ากับเอว หรือที่เรียกว่า “กี่เอว” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของชาวปกาเกอญอ
ลิ้มรสละมุนกรุ่นกลิ่น กาแฟห้วยห้อม
กาแฟอราบิก้า นำเข้ามาปลูกที่บ้านห้วยห้อม ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย โดยกลุ่มมิชชันนารี จากนั้นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ได้นำกาแฟเข้ามาปลูกเพื่อช่วยเหลือราษฎรพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรตั้งแต่นั้นมาจึงมีการปลูกกาแฟกันมากขึ้น อีกทั้งยังขยายจากหมู่บ้านห้วยห้อมไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงจนมีพื้นที่ปลูกมากขึ้น กาแฟอราบิก้าเจริญเติบโตให้ผลผลิตได้ดีในระดับความสูงประมาณ 800 เมตรขึ้นไปจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อีกทั้งยังจะทำให้ได้กาแฟที่มีรสชาติเข้มข้น หอมกรุ่นอีกด้วย และเนื่องจากพื้นที่ปลูกกาแฟส่วนใหญ่อยู่ในบ้านห้วยห้อม จึงได้ชื่อเรียกว่า “กาแฟห้วยห้อม”
ปัจจุบันชาวบ้านห้วยห้อมสามารถผลิตการแฟแบบครบวงจรตั้งแต่การเพาะกล้ากาแฟ การปลูก การเก็บ ไปจนถึงการคั่ว และบดกาแฟ จนกระทั่งการบรรจุหีบห่อที่มีความสวยงามเหมาะกับการซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน ชมทะเลขุนเขา นอนนับดาวพักกาบพักใจ “โฮมสเตย์ห้วยห้อม”
โฮมสเตย์บ้านห้วยห้อม นับเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ที่จะได้สัมผัสวิถีชีวิตเรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวปกาเกอญอ พร้อมบริการบ้านพักแบบโฮมสเตย์ทั้งหมด 5 หลัง และกำลังจะขยายเพิ่มในอนาคต โดยแต่ละหลังรองรับนักท่องเที่ยวได้ 10-20 คน และมีบริการอาหารพื้นบ้าน
เวลาเดินช้าๆจากหมู่บ้านห้วยห้อยวิถีชุมชนแห่งขุนเขาผืนป่ากาแฟและผ้าทอขนแกะ สายใสความสัมพันของธรรมชาติและวิถีชีวิตที่เรียบง่าย
บ้านห้วยห้อม/ การเดินทางจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนมุ่งหน้าลงมาทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลข 108 ระยะทางประมาณ 134 กิโลเมตร จนถึงอำเภอแม่ลาน้อย แล้วเดินทางไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1266 อีกประมาณ 35 กิโลเมตร ก็จะถึงตัวหมู่บ้าน
ติดต่อ/ห้วยห้อม ม.1 ต.ห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

ร่วมแสดงความคิดเห็น