100 ปี อุโมงค์รถไฟถ้ำขุนตาน

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2450 ตั้งแต่เริ่มมีการขุดเจาะอุโมงค์รถไฟขุนตาน จนถึงวันนี้ (พ.ศ.2561) เป็นเวลา 111 ปี และหากย้อนระลึกถึงอดีตอันขมขื่นของการขุดเจาะอุโมงค์รถไฟที่มีคนงานต้องสังเวยชีวิตเป็นจำนวนหลายพันคนแล้วนั้น การขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาลหรือถ้ำขุนตานเริ่มต้นมีการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2448 เมื่อทางราชการได้เริ่มลงมือสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟสายเหนือขึ้น โดยมีวิศวกรชาวเยอรมันชื่อ มิสเตอร์ อี. ไอเซ็นโฮเฟอร์ ซึ่งเข้ามารับราชการในกรมรถไฟหลวงเมื่อปลายรัชกาลที่ 5 ทางรถไฟสายเหนือสร้างจากกรุงเทพขึ้นมาจนถึงลำปางก็ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากภูมิประเทศในแถบนี้เป็นภูเขาสูงและมีเหวลึก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การสร้างทางรถไฟต่อจากลำปางมาถึงเชียงใหม่ต้องล่าช้าออกไป อุปสรรค์อันใหญ่หลวงของการสร้างทางระหว่างลำปางมาเชียงใหม่ก็คือ จะต้องทำการขุดเจาะภูเขาขุนตาน ซึ่งอยู่บนสันเขาผีปันน้ำเขตรอยต่อระหว่างจังหวัดลำปางกับจังหวัดลำพูนการสำรวจและขุดเจาะถ้ำขุนตานใช้เวลาถึง 11 ปีจึงแล้วเสร็จ งานขุดเจาะเริ่มตั้งแต่ปี 2450 แล้วเสร็จในปี 2461 โดยขุดเจาะจากภายนอกทั้งสองด้านเข้าไปบรรจบกันตรงกลาง ใช้ช่างชาวเยอรมันกว่า 250 คน กรรมกรชาวจีน อีสานและคนเมืองอีกหลายพันคน ในการก่อสร้างอุโมงค์ขุนตานคนงานต้องพบกับอุปสรรคมากมาย มีกรรมกรชาวจีนจำนวนมากล้มตายลงที่นี่ด้วยโรคอหิวาและไข้มาลาเรีย ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงปัญหาเสือคาบคนงานไปกิน แม้แต่นายช่างชาวเยอรมันก็เคยถูกเสือที่เข้าไปหลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์ทำร้ายบาดเจ็บมาแล้วส่วนงานเจาะภายในอุโมงค์นั้นใช้กรรมกรชาวอีสานกับคนพื้นเมือง เนื่องจากชาวจีนไม่ยอมทำงานในอุโมงค์ เพราะพวกเขาถือว่าในอุโมงค์เป็นที่สิงสถิตย์ของภูตผีปีศาจ
เมื่อเริ่มทำการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตานได้ไม่นาน ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียก่อน มิสเตอร์ อี. ไอเซ็นโฮเฟอร์ ถูกจับตัวเป็นเชลยศึกในฐานะชนชาติศัตรู ถูกขังในเมืองไทยนาน 6 เดือนแล้วถูกส่งต่อไปยังประเทศอินเดียอีก 2 ปี จากนั้นจึงถูกส่งกลับประเทศเยอรมัน ในปี พ.ศ.2463 ต่อมาในปี พ.ศ.2472 ท่านได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้งและพำนักอยู่ในเมืองไทยจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2505 จึงเสียชีวิต
ความยากลำบากในการสร้างทางรถไฟจากลำปางมาเชียงใหม่ นอกจากต้องเสียเวลาในการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตานนานถึง 11 ปีแล้ว บริเวณนี้ยังมีหุบเหวลึกอยู่หลายที่ในการสร้างทางรถไฟจะต้องใช้โครงเหล็กต่อจากพื้นด้านล่างขึ้นไปให้ได้ระดับทางรถไฟ เช่นที่สะพานเหวลึก หรือสะพานหอสูง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอุโมงค์ขุนตานไปเล็กน้อย สะพานนี้สร้างในตอนทางโค้งเวลาที่รถไฟวิ่งผ่านจะต้องชะลอความเร็ว เพราะนอกจากจะโค้งแล้วยังสูงอีกด้วย
หากใครที่เคยนั่งรถไฟจากเชียงใหม่สู่กรุงเทพฯก่อนจะถึงถ้ำขุนตานยังมีสะพานขาวบ้านทาชมพู ซึ่งเป็นสะพานประวัติศาสตร์สร้าง สร้างขึ้นในยุคสมัยเดียวกับถ้ำขุนตาน (พ.ศ.2462) เพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินรถไฟจากลำปางมายังเชียงใหม่

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสะพานแห่งนี้ว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารฝ่ายพันธมิตรต้องการจะทิ้งระเบิดทำลายเส้นทางเดินรถไฟของทหารญี่ปุ่นและหนึ่งในเป้าหมายทั้งหมดมีสะพานขาวบ้านทาชมพูรวมอยู่ด้วย ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านใกล้เคียงจึงได้ช่วยกันทาสีสะพานให้เป็นสีดำเพื่ออำพรางตาจากทหารฝ่ายพันธมิตรจนสะพานแห่งนี้สามารถรอดพ้นจากการทิ้งระเบิดทำลายลงได้ นอกจากนี้ยังมีสะพานรัษฏาภิเศกข้ามแม่น้ำวังจังหวัดลำปางก็รอดพ้นจากการทิ้งระเบิดเช่นกัน
อุโมงค์ขุนตานถือได้ว่าเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ชาวบ้านเรียกกันว่า “ถ้ำขุนตาน” ตามชื่อของดอยขุนตาน อุโมงค์นี้เปิดให้ใช้ในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2461 วัดความยาวของอุโมงค์ได้ 1,362.05 เมตร ถึงวันนี้อุโมงค์รถไฟถ้ำขุนตานสร้างแล้วเสร็จเป็นเวลา 100 ปีพอดี

ภายหลังการขุดเจาะอุโมงค์ที่ถ้ำขุนตานแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2461 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจที่สำคัญของเชียงใหม่ – ลำพูน เป็นเสมือนการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากความต้องการไม้สักของบริษัททำไม้อังกฤษ (บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า) นอกจากนี้ทางรถไฟดังกล่าวยังเป็นเส้นทางลำเลียงไม้สัก ข้าวและถ่านหุงต้มในเขตภาคเหนือไปยังตลาดภาคกลางได้สะดวกขึ้น

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น